“พาณิชย์”ทำโครงการ “ร่วมใจ ช่วย GI ไทย พ้นภัยโควิด” ใช้เฟซบุ๊ก GI Thailand จำหน่ายสินค้า GI เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เผยมีสินค้าเข้าร่วม 45 รายการ จาก 35 จังหวัดทั่วประเทศ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดโครงการ “ร่วมใจ ช่วย GI ไทย พ้นภัยโควิด” โดยใช้ Facebook Fanpage : GI Thailand เป็นสื่อกลางแนะนำสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ GI ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามปกติ จนเกิดความเสียหายและเกิดปัญหาการขาดรายได้ของเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีผลผลิตออกตามฤดูกาล จึงได้ใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) ที่คนหันมาใช้ช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น
“กระทรวงพาณิชย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาศัยสื่อออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19”
สำหรับสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก มีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการจัดส่งสินค้าแก่ผู้บริโภคผ่านระบบไปรษณีย์และสถานบริการขนส่งเอกชน ตอบรับเข้าร่วมทั้งสิ้น 104 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 45 สินค้า จาก 35 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา ปลากุเลาเค็มตากใบ กาแฟเมืองกระบี่ ศิลาดลเชียงใหม่ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และนิลเมืองกาญจน์ เป็นต้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า โครงการร่วมใจ ช่วย GI ไทย พ้นภัยโควิด นอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้า GI ไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด–19 แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของสินค้าชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวและจัดจำหน่ายผ่านช่องทางใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การเติบโตของสินค้า GI อย่างมีคุณภาพ และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างยั่งยืนต่อไป