xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ปัจจัยหลักฉุดส่งออก มิ.ย.วูบ 23.17% ติดลบมากสุดในรอบ 131 เดือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออก มิ.ย.ทำได้มูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 23.17% ลดลงมากสุดในรอบ 131 เดือน เหตุโควิด-19 ยังกดดันหนัก ฉุดส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ลดลง ยกเว้นกลุ่มอาหาร สินค้าใช้ทำงานที่บ้าน และป้องกันโรค ที่ส่งออกได้ดีขึ้น เผยการส่งออกน่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว กำลังฟื้นตัว หากไม่เจอระบาดรอบ 2 คาดทั้งปีอาจจะติดลบ 8% ถึงลบ 9%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย. 2563 มีมูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 23.17% เป็นการขยายตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือนนับจาก ก.ค. 2552 การนำเข้ามีมูลค่า 14,833.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.05% เกินดุลการค้า มูลค่า 1,610.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดรวม 6 เดือนปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 114,343 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.09% การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.62% เกินดุลการค้ามูลค่า 10,701 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับปัจจัยทำให้การส่งออกลดลง มาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันการค้าโลก และกระทบต่อการส่งออกของหลายประเทศ รวมทั้งไทย และยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ที่อาจทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ และยังมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และจีนกับอินเดีย ที่ส่งผลต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงส่งออกลดลง รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ส่งออกลดลง เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ จากความต้องการที่หดตัว เพราะผู้บริโภคมุ่งเน้นการบริโภคสินค้าที่จำเป็นมากกว่า เม็ดพลาสติก ที่ลดลงตามราคาน้ำมัน แต่อิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนสินค้าในกลุ่มอาหาร เป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่น อาหารทะเล ไก่สด สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านก็เพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รวมถึงสินค้าที่ป้องกันเชื้อโรค เช่น เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น

ทางด้านตลาดส่งออก ลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นสหรัฐฯ กับจีน ที่กลับมาส่งออกเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้น 14.5% และ 12% ตามลำดับ ส่วนญี่ปุ่น ลด 21.6% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 22.7% อาเซียน (5 ประเทศ) ลด 38.8% CLMV ลด 17.8% อินเดีย ลด 63.1% ฮ่องกง ลด 32.3% เกาหลีใต้ ลด 22% ไต้หวัน ลด 13.3% ทวีปออสเตรเลีย ลด 22.7% ตะวันออกกลาง ลด 10.45 แอฟริกา ลด 37.7% ลาตินอเมริกา ลด 41.8% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ลด 23.4% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 27.4% แคนาดา ลด 6.7% สวิสเซอร์แลนด์ ลด 92%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ก.ค.-ธ.ค.) มีสัญญาณดีขึ้น โดยมองว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัว อย่างล่าสุดจีนก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น สหภาพยุโรป (อียู) ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ตลาดสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวตามการเร่งเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่การขนส่งสินค้ามีความคล่องตัวมากขึ้น จากเดิมที่มีปัญหาติดขัดจากการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะไทยกับเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การส่งออกทั้งปีน่าจะติดลบมากกว่าที่คาดไว้เดิมที่ลบ 6% อาจจะขยับไปติดลบ 8% หรือลบ 9% โดยหากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะติดลบ 8% แต่ถ้าส่งออกได้มากกว่านี้ การติดลบก็จะน้อยลง หากจะให้เป็นบวกต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 21,988 ล้านเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น