xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก พ.ค. 63 โดนพิษโควิด-19 ยอดตกเหลือ 16,278 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำสุด 4 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เผยส่งออก พ.ค. 63 มีมูลค่า 16,278.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำสุดรอบ 4 ปี ลดลง 22.50% มากสุดรอบ 130 เดือน เหตุได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำยอดส่งออกสินค้าตกระนาว เว้นเกษตร อาหาร และทองคำที่ยังโตดี ด้านตลาดส่งออกตกหมด เว้นจีนบวกแรง คาดส่งออกพ้นจุดต่ำสุดแล้ว หากไม่เจอโควิด-19 ระบาดรอบ 2 ประเมินทั้งปีติดลบ 5% หรือต่ำกว่า

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ค. 2563 มีมูลค่า 16,278.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 22.50% โดยมูลค่าลดลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี นับจาก เม.ย. 2559 ที่การส่งออกมีมูลค่า 15,609.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และอัตราขยายตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 130 เดือน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,583.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 34.41% เกินดุล 2,694.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ภาพรวมการส่งออก 5 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 97,898.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.71% นำเข้ามูลค่า 88,808.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.64% โดยเกินดุลการค้า 9,090.56 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น เพราะมีการกระจายไปทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ทำให้การผลิตและการบริโภคหดตัว ซึ่งต่างจากตอนน้ำท่วมที่กระทบด้านการผลิตเป็นหลัก ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว และยังได้รับผลกระทบจากการขนส่งที่ยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อแม้จะมีความต้องการสูง ขณะที่ราคาน้ำมันแม้จะปรับตัวสูงขึ้นแต่ก็ยังไม่มาก กระทบต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และเงินบาทเริ่มแข็งค่า มีผลกระทบต่อการแข่งขันของสินค้าไทย

“เดือน พ.ค.สินค้าอุตสาหกรรมลดลง 27% เช่น รถยนต์ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่ม 2.5% โดยสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในช่วงล็อกดาวน์ขยายตัวได้ดี ทั้งผัก ผลไม้ อาหาร ไก่ และอาหารสัตว์เลี้ยง ทำให้สัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 22.7% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 17.1% ของการส่งออกทั้งหมด สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหาร และยังทำให้รายได้กระจายลงสู่เกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ส่วนตลาดส่งออกปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด โดยตลาดหลักลด 25.9% เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 17.3%, 24.2% และ 40% ตามลำดับ ตลาดศักยภาพสูงลด 21.3% เช่น อาเซียนลด 27.9% อินเดีย ลด 76% ฮ่องกง ลด 19.3% เกาหลีใต้ ลด 32.9% ไต้หวัน ลด 24.1% แต่จีนเพิ่ม 15.3% และตลาดศักยภาพระดับรองลด 36.3%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกของไทยแม้จะติดลบมากแต่ก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศ และน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยคาดว่าความต้องการสินค้าของประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นในเดือนต่อๆ ไป แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะมีการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 หรือไม่ และยังมีปัญหาการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ยังไม่คล่องตัว โดยหากการส่งออกจากนี้ไปทำได้เฉลี่ยเดือนละ 1.7-1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 5% แต่ถ้าทำได้มากกว่าการติดลบก็จะน้อยลง

สำหรับข้อเสนอแนะ ไทยต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโควิด-19 ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร และต้องรีบเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของสินค้ากลุ่มนี้, ต้องหาทางประคับประคองผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกเอาไว้ให้ได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินที่ต้องเข้าถึงและยืดหยุ่นกว่านี้, ต้องเร่งแก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ให้ผู้ส่งออก เช่น จับคู่สายการบินพาณิชย์ที่อาจจะมาใช้แทนการขนส่งทางเรือและถนนไปก่อน, ต้องเร่งขยายความเข้มแข็งของการเป็นซัปพลายเชน เช่น กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร, สนับสนุนกลุ่มสินค้าที่ขายได้ เช่น อาหาร สินค้าทำงานอยู่บ้าน และไลฟ์สไตล์ และต้องประกันความเสี่ยงจากค่าเงิน โดยรัฐต้องช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น