xs
xsm
sm
md
lg

กนง.ชี้พิษโควิด-19 กดจีดีพีติดลบ 8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนง.ระบุโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจติดลบ 8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 0.50% ย้ำติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด พบความผิดปกติพร้อมใช้มาตรการทันที

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดยมองว่าสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ได้ลุกลามในหลายประเทศและมีแนวโน้มยืดเยื้อ จนต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกหดตัวในหลายประเทศ กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าที่หดตัวสูง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัว 80% ในปีนี้ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ การจ้างงาน ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง

จากผลกระทบดังกล่าว กนง.ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 มีแนวโน้มหดตัว 8.1% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ -5.3% และเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งเสถียรภาพระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

"เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวมากที่สุดในไตรมาส 2 ที่มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจครึ่งหลังจะทยอยปรับดีขึ้น จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งภาครัฐมีการเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในรูปแบบของเงินโอนช่วยเหลือครัวเรือน มาตรการสินเชื่อและมาตรการภาษี" ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังของปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 มีแนวโน้ม -1.7% มากกว่าคาดเดิมที่ -1.0% ตามราคาพลังงานที่ลดลงรุนแรงตามอุปสงค์ที่ลดลง และคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 0.9% ในช่วงปี 2564 ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ กนง.มีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม




กำลังโหลดความคิดเห็น