xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยปิดพลิกร่วง 23.00 จุด หลัง กนง.ลดคาดการณ์ศก.ไทยปีนี้เหลือ -8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นไทยปิดพลิกร่วง 23.00 จุด หลัง กนง.ลดคาดการณ์ศก.ไทยปีนี้เหลือ -8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตลาดยังมีแรงประคองจากหุ้นกลุ่มแบงก์ที่แบงก์ใหญ่ยังยืนบวกได้ แม้จะแผ่วตัวลงจากช่วงเช้า แนวโน้มวันพรุ่งนี้ ภาพตลาดรวมน่าจะยังคงพักฐาน

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวแดนบวกในภาคเช้า ก่อนจะพลิกกลับมาปรับลดลงแรงในช่วงบ่ายนั้น ปัจจัยหลักมาจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาด -5.3% ซึ่งนับเป็นระดับที่ค่อนข้างแรงพอสมควร ทำให้ตลาดมีมุมมองว่าเศรษฐกิจจะแย่กว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับตลาดหุ้นภูมิภาคกอ่อนตัวลงจากภาคเช้า และบางตลาดพลิกเป็นลบ จากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สองที่เริ่มเห็นสัญญาณในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงประคองจากหุ้นกลุ่มแบงก์ที่แบงก์ใหญ่ยังยืนบวกได้ แม้จะแผ่วตัวลงจากช่วงเช้า แต่ภาพรวมการลงทุนกลุ่มแบงก์ยังคงถูกกดดันจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ค่อนข้างแรง และการขอให้แบงก์พาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานปี 63 ทำให้มองว่า ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลกระทบหนักและฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ประเมิน ทำให้มองว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ระยะกลางถึงยาวอาจยังไม่น่าสนใจเพราะแบงก์น่าจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวไดัช้าสุด

ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,333.43 จุด ลดลง 23.00 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.70% มูลค่าการซื้อขาย 60,885.82 ล้านบาท ด้านประเภทนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,154.19 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,623.68 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,589.37 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 4,058.86 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มการซื้อขายวันพรุ่งนี้ (25 มิ.ย.) ภาพตลาดรวมน่าจะยังคงพักฐาน ขณะที่ยังต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง และการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงคืนนี้ด้วย พร้อมให้แนวรับที่ 1,330 และ 1,300 จุด ส่วนแนวต้านที่ 1,350-1,360 จุด

อนึ่ง ผลประชุม กนง.วันนี้ มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 63 มีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประมาณการไว้เดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ โดยปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาด -5.3% ซึ่งนับเป็น GDP ที่ต่ำสุดในประวัติการณ์ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่ไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 พบว่า GDP อยู่ที่ -7.6%


กำลังโหลดความคิดเห็น