ส่งออก เม.ย.เพิ่ม 2.12% โต 2 เดือนติด ได้อานิสงส์ส่งออกทองคำ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร แต่หากหักทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน และการส่งอาวุธคืน จะติดลบ 7.53% เผยปัจจัยฉุดหลักมาจากโควิด-19 ทำหลายประเทศล็อกดาวน์ และน้ำมันตลาดโลกลด คาดส่งออกไตรมาส 2 ยังอยู่ในแดนลบ แต่มีลุ้นทั้งปีติดลบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนเม.ย.2563 มีมูลค่า 18,948.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.12% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหนุน คือ การส่งออกทองคำในเดือนนี้ที่ขยายตัวสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงเปลี่ยนมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และยังมีการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว เพิ่มครั้งแรกในรอบ 18 เดือน อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 34.33% ส่วนอาหารทะเลแช่แข็ง ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ยังคงขยายตัวได้ดี แต่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยังชะลอตัว รถยนต์และส่วนประกอบก็ชะลอตัว รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกได้ลดลง
ทั้งนี้ หากหักมูลค่าสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย ซึ่งเป็นการส่งกลับคืนออกไป การส่งออกเดือน เม.ย. 2563 จะติดลบ 7.53% ส่วนการส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 81,620.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.19% แต่ถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยออกจะขยายตัวติดลบ 0.96%
ส่วนการนำเข้าเดือน เม.ย. 2563 มีมูลค่า 16,485.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17.13% และนำเข้ารวม 4 เดือน 75,224.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.72% โดยเดือน เม.ย. 2563 เกินดุลการค้า 2,462.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 4 เดือน เกินดุลการค้า 6,390 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลง มาจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และหลายประเทศมีการล็อกดาวน์ ทำให้ลดการนำเข้าลง และยังมีผลกระทบจากน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ก็เลยส่งออกลดลงตามไปด้วย แต่เดือน เม.ย. 2563 ที่ส่งออกเป็นบวกได้ เพราะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกทองคำ เดือนเดียวส่งออกสูงถึง 2,493 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1,103% และสินค้าเกษตร อาหาร ที่ยังส่งออกได้ดี แม้จะมีมูลค่าไม่มาก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม แต่ก็มีส่วนช่วยเพิ่มยอดส่งออก” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญเดือน เม.ย. 2563 พบว่า ตลาดหลักเพิ่ม 7.7% จากการเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น 9.8% สหรัฐฯ เพิ่ม 34.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 28.7% ตลาดศักยภาพสูง ลด 4% จากการลดลงของอาเซียน 9 ประเทศ 7.4% CLMV ลด 31% จีน กลับมาเพิ่ม 9% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน อินเดีย ลด 61.1% เกาหลีใต้ ลด 20.2% แต่ฮ่องกง เพิ่ม 38.2% และไต้หวัน เพิ่ม 4.1% ตลาดศักยภาพรอง ลด 28.5% จากการลดของทวีปออสเตรเลีย 29.5% ตะวันออกกลาง ลด 25.3% แอฟริกา ลด 31.8% ลาตินอเมริกา ลด 33.7% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 18.2% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 33.5% แคนาดา ลด 7.6% ส่วนตลาดอื่นๆ เพิ่ม 733.9% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 1,447%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 น่าจะยังอยู่ในแดนติดลบ เพราะการส่งออกยังไปได้ไม่สะดวก จากการที่หลายประเทศยังมีการล็อกดาวน์ แม้บางประเทศจะเริ่มปลดล็อก ซึ่งผลกระทบยังมีอยู่ โดยเฉพาะเดือน พ.ค. 2563 แต่ มิ.ย. 2563 ต้องดูอีกที ส่วนแนวโน้มทั้งปีประเมินว่าไม่น่าจะติดลบมากเหมือนที่หลายฝ่ายมีการประเมินไว้ โดยหากส่งออกจากนี้ไป ทำได้เฉลี่ยเดือนละ 20,578 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 0.5% แต่ถ้าเกิน 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 0%
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ มาจากการที่หลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา แต่ต้องไม่เกิดการระบาดรอบที่ 2 และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ถ้าทะลุเกิน 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะช่วยให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดีขึ้น และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังดีต่อเนื่อง รวมถึงเงินบาทอ่อนที่จะมีส่วนช่วย และกระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยไปแก้ไขปัญหาการส่งออกมีมาตรการเสริมผลักดันส่งออก และผลักดันการค้าออนไลน์