“พาณิชย์” เผยส่งออก มี.ค. 63 บวก 4.17% สูงสุดรอบ 8 เดือน มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มากสุดรอบ 19 เดือน ได้รับผลดีจากสงครามการค้าที่เบาลง สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกดีขึ้น อาหารขยายตัวมากขึ้น แต่กลุ่มน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องยังลดตามราคาน้ำมัน คาดแนวโน้มส่งออกทรงตัว ไม่น่าจะลบหนักเหมือนหลายฝ่ายคาด
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. 2563 มีมูลค่า 22,404.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.17% เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน และมูลค่ายังสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับจากเดือน ก.ค. 2561 ที่ส่งออกได้ 22,827.3 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 20,812.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.25% เกินดุลการค้ามูลค่า 1,592.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกรวม 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 62,672.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.91% นำเข้ามูลค่า 58,738.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.92% เกินดุลการค้ามูลค่า 3,933.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือน มี.ค. 2563 เพิ่มขึ้นมาจากผลกระทบจากสงครามการค้าเบาลงทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์เพิ่มสูงถึง 17.59% สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้น ทั้งทองคำ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โซลาร์เซลล์ ขณะที่กลุ่มอาหาร เช่น ผักผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวได้ดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไปกว่า 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น
ส่วนปัจจัยกดดันมาจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งมีสัดส่วน 8.12% ของการส่งออกลดลง และยังมีการลดลงของสินค้าในกลุ่มโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา
ทั้งนี้ หากดูการส่งอกเป็นรายตลาด พบว่าตลาดหลักเพิ่มขึ้น 10.1% จากการเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ที่บวกแรง 42.9% จากการส่งคืนยานพาหนะและอาวุธที่ใช้ในการซ้อมรบกลับ แต่หากหักรายการนี้ออกก็ยังบวกถึง 19.5% ญี่ปุ่น ลด 2.8% และสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 14.8% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 3.6% จากการเพิ่มขึ้นของอาเซียนเดิม (5 ประเทศ) 6.8% CLMV เพิ่ม 2.9% จีน ลด 4.8% อินเดีย ลด 26.3% ฮ่องกง เพิ่ม 58.9% เกาหลีใต้ ลด 8.7% ไต้หวัน เพิ่ม 5.6% และตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 6.2% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 5.7% ตะวันออกกลาง ลด 9.7% แอฟริกา ลด 18.4% ลาตินอเมริกา ลด 7.9% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ลด 6.6% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 12.1% และแคนาดา ลด 6.2% ส่วนตลาดอื่นๆ เพิ่ม 17.9% แต่สวิตเซอร์แลนด์ ลด 19.9%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกคาดว่าไตรมาสที่ 2 มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจะยังคงติดลบ แต่คงไม่ลบหนักเหมือนที่หลายฝ่ายประเมินลบ 8% ลบ 10% น่าจะใกล้เคียงกับ 0% บวกลบ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกมาจากน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หากราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำก็จะส่งผลต่อตัวเลขส่งออกที่จะลดลง แต่ก็ได้รับผลดีจากกลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป เพราะมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนกักตัวอยู่บ้านมากขึ้น และหลายประเทศมีการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 อย่างจีน ที่ภาคการผลิตจะกลับมาเต็มรูปแบบ ทำให้มีความต้องการสินค้าที่เป็นซัปพลายเชน ซึ่งไทยก็เป็นซัปพลายเชนที่สำคัญ รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูงขยายตัวดีขึ้น