ส่งออกพ.ย. ยังหดตัว ลบอีก 7.39% หลังยอดส่งออกสินค้าน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องหดตัวหนัก สินค้าเกษตรกรราคาตก และเทรดวอร์ยังมีผล แม้จะเริ่มดีขึ้น ส่วน 11 เดือนยังลบ 2.77% ลุ้นทั้งปีลบไม่เกิน 2% ส่วนปี 63 คาดฟื้นแน่ โต 3% แต่ยังไม่ใช่เป้าทางการ เหตุสงครามการค้าคลี่คลาย น้ำมันทรงตัว พาณิชย์ลุยเจาะตลาด ย้ำยังมีปัจจัยเสี่ยงต้องระวัง สงครามการค้าย้ายข้างจากจีนไปยุโรป
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือนพ.ย.2562 มีมูลค่า 19,656.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.39% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับจากเดือนก.ค.2562 ที่ขยายตัวเป็นบวกและจากนั้นลดลง โดยส.ค.ลด 4% ก.ย.ลด 1.39% และต.ค.ลด 4.54% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,108.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.78% โดยเกินดุลการค้า 548.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกรวม 11 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 227,090.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.77% นำเข้ามูลค่า 218,081.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.22% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 9,008.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนพ.ย.ลดลง มาจากผลกระทบจากสินค้ากลุ่มน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 11% ลดลงถึง 27% แต่ก็เริ่มลดน้อยลง จากที่ก่อนหน้านี้ เดือนก.ย.และเดือนต.ค.ลดสูงถึง 40% และ 30% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไทยลดลงตามไปด้วย และยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ซึ่งแม้ว่าขณะนี้จะเริ่มดีขึ้นและไทยปรับตัวได้มากขึ้น
ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 3.6% โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 37.3% ข้าว ลด 31.4% ยางพารา ลด 18.4% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ลด 9.1% แต่น้ำตาลทราย เพิ่ม 105.3% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 10.4% ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 7% เครื่องดื่ม เพิ่ม 3.8% และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 6.4% โดยสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมันลด 27.2% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 15.6% เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ลด 14.8% ทองคำ ลด 8.5% แต่เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เพิ่ม 26.4% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 25.9% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 10.4% เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เพิ่ม 8.8%
สำหรับตลาดส่งออก ตลาดหลัก ลด 6.9% จากการส่งออกไปสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ลด 2.6% , 8.2% และ 10.9% ตลาดศักยภาพสูง ลด 6.1% จากการส่งออกไปเอเชียใต้ อาเซียน 5 ประเทศ และ CLMV ลด 15.2% , 11.1% และ 9.3% แต่ตลาดจีน กลับมาบวก 2.3% ฮ่องกง บวก 2.6% และตลาดศักยภาพรอง ลด 12.8% จากการส่งออกไปรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ลด 26% , 22% 19.3% และ 10.9%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกในเดือนธ.ค.2562 หากทำได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 2% ซึ่งมองไว้ประมาณนี้ และยังเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ประเมินเอาไว้ ซึ่งถือเป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้า แต่การส่งออกไทยมีความหลากหลาย สินค้ามีคุณภาพสูง ทำให้ปรับตัวและรักษาฐานตลาดเดิมและขยายการส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคที่หดตัวมากกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะดีขึ้น หลังจากที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน บรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรกได้แล้ว ทำให้บรรยากาศการค้าดีขึ้น และน้ำมันตลาดโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันจะส่งออกดีขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ยังมีมาตรการเชิงรุก ทั้งการเร่งรัดการส่งออกภายใต้ MOU ที่ได้ลงนาม การเจาะตลาดรายประเทศ และการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายตลาด ทำให้การส่งออกน่าจะเป็นบวกได้ 3% ซึ่งยังไม่ใช่เป้าหมายทางการ แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวน หรือสงครามการค้าที่ย้ายฝั่งจากจีนไปยุโรป หากเร็วและแรง ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอีก ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ วอร์รูมกลุ่มเล็กได้เตรียมประชุมร่วมกับผู้ส่งออกเพื่อพิจารณาแนวทางรับมือแล้ว