xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.นำร่องวิเคราะห์ 15 อุตฯ พบ 7 อุตฯ แนวโน้มฟื้นตัวปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เตรียมกางผลวิเคราะห์ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมครบภายใน ม.ค. 63 หลังนำร่องวิเคราะห์เบื้องต้นแล้ว 15 อุตสาหกรรมโดยมี 7 อุตสาหกรรมหลักมีทิศทางฟื้นตัวในปีหน้า

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีแผนที่จะจัดทำการวิเคราะห์ทิศทางอุตสาหกรรมไทยในปี 2563 ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.เพื่อให้เห็นภาพทิศทางอุตสาหกรรมทั้งหมดในปี 2563 คาดว่าจะจัดทำสมบูรณ์แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นได้ทำการวิเคราะห์นำร่องแล้ว 15 อุตสาหกรรมหลักๆ ซึ่งพบว่ามี 7 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวปี 2563 ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากคาดหวังการท่องเที่ยวที่น่าจะเติบโตขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้จากภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนกับภาครัฐ รวมถึงแนวโน้มค่าเงินบาท เหล่านี้เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน ทาให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์น่าจะฟื้นตัวได้

2. อาหาร ประเมินว่าจะกลับมาขยายตัว 2% ในปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มผักผลไม้ที่เติบโตได้ดี 3. เฟอร์นิเจอร์ ที่คาดว่าจะเติบโตมากขึ้นหลังคำสั่งซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำนวนมาก 4. ปิโตรเคมี คาดว่าจะดีกว่าปีนี้เนื่องจากมีการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ 5. เครื่องสำอาง คาดว่าจะยังเติบโตได้จากแนวโน้มที่ผู้บริโภคให้ความสาคัญกับการรักษาสุขภาพและความงาม 6. ปูนซีเมนต์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนที่ขยายตัว 7. อัญมณีและเครื่องประดับ ที่ตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวทั้งสหรัฐฯ และอินเดีย

ขณะที่อุตสาหกรรมทรงตัว ได้แก่ 1. ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม เนื่องจากยังเผชิญกับความไม่แน่นอนต่อเนื่องจาก ปัจจัยเสี่ยงหลักอย่างสงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะคลี่คลายแต่ยังคงมีความไม่ชัดเจน 2. ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ มีความกังวลในประเด็นการเปลี่ยนแปลงการผลิตรถยนต์ของแต่ละค่ายรถยนต์ที่มีฐานผลิต ประกอบในประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า 3. ผลิตภัณฑ์ยาง จากปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าต่อเนื่อง 4. ผลิตภัณฑ์พลาสติก ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน 5. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาท

ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะชะลอตัวได้แก่ 1. เหล็ก เนื่องจากการถดถอยของการส่งออกของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้เหล็ก อาทิ ยานยนต์ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยมีการใช้กำลังการผลิตถดถอยลง 2. เคมีภัณฑ์ ที่ยังอาจต้องเชผิญกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และ 3. ผลิตภัณฑ์หนัง จากปัจจัยเสี่ยงการแข็งค่าเงินบาท และสงครามการค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น