xs
xsm
sm
md
lg

พรุ่งนี้บอร์ด IRPC อนุมัติแผนลงทุน 5 ปี 5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พรุ่งนี้ (17 ธ.ค.) ชงบอร์ดไออาร์พีซีไฟเขียวแผนลงทุน 5 ปี (63-67) ราว 5 หมื่นล้านบาท โดยปีหน้าตั้งงบลงทุนไว้ 1 หมื่นกว่าล้านบาทใช้เพื่อซื้อกิจการ 4-5 พันล้านบาท และโครงการยูโร 5 อีก 8 พันล้านบาท คาดปีหน้าราคาปิโตรเคมีขยับดีขึ้นหลังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มคลี่คลาย แย้มต้นปีหน้าจับมือพันธมิตรรุกพลาสติกสำหรับยานยนต์


นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ธ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) พิจารณางบการลงทุนของบริษัท 5 ปี (2563-2567) รวม 5 หมื่นล้านบาท โดยรวมโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS) มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท โดยปีหน้าบริษัทตั้งงบลงทุนราว 1 หมื่นกว่าล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนโครงการ Ultra Clean Fuel Project (UCF) ทำให้โรงกลั่นน้ำมันไออาร์พีซีสามารถผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 7-8 พันล้านบาท และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) 4-5 พันล้านบาท

สำหรับแผนการลงทุนในปีหน้าจะยังไม่ได้จัดสรรงบการลงทุนโครงการ MARS แต่อย่างใด เนื่องจากโครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูง แต่จะกลับมาพิจารณาอีกครั้งในกลางปี 2563 โดยบริษัทต้องพิจารณาโมเดลธุรกิจ และความเสี่ยงต่างๆ ประกอบ รวมทั้งเจราจาหาพันธมิตรร่วมทุนในกลุ่ม ปตท. ทั้ง บมจ.ไทยออยล์และ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) ด้วย หลังจากพบว่าจีนมีการขึ้นโรงงานผลิตพาราไซลีน (PX) หลายโรง มีขนาดกำลังผลิตโรงละ 1-3 ล้านตัน/ปี ส่งผลให้ราคา PX อ่อนตัวลง ดังนั้นบริษัทไม่เร่งรีบที่จะสรุปการลงทุนในช่วงนี้

ทิศทางในปี 2563 คาดว่ามาร์จิ้นของธุรกิจปิโตรเคมีจะดีขึ้นกว่าปีนี้ หลังสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังบรรลุข้อตกลงการค้าในระยะแรกแล้วและโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งทั่วโลกปรับลดกำลังการผลิตลงทำให้กำลังการผลิตบางส่วนหายไปจากตลาดดันให้ราคาปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากปีนี้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวลดลงไปราว 40%

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 นั้นน่าจะเริ่มส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำได้ อย่างบริษัทที่ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายอยู่แล้วบางส่วน สำหรับค่าการกลั่น (GRM) บริษัทยังติดตามดูอย่างใกล้ชิด หลังในช่วงก่อนหน้านี้ค่าการกลั่นไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้

สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะเน้นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการขยายกำลังการผลิตแบบคอขวด (debottleneck) ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และมีผลตอบแทนกลับมาเร็วขึ้น ซึ่งนับเป็นการต่อยอดจากฐานเดิมที่มีอยู่ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialties) มากขึ้นจากเดิม 55% ของกำลังการผลิตเป็น 60% ในปีหน้า และจะเน้นการขายตลาดในประเทศให้มากขึ้น

นายนพดลกล่าวต่อไปว่า ในต้นปี 2563 มีความชัดเจนความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับพันธมิตรเพื่อเข้าสู่ตลาดเม็ดพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีมูลค่าสูงมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนฝ่ายละ 50% จำหน่ายเม็ดพลาสติกพีพี คอมพาวนด์เกรดพิเศษ (PP Compound) เพื่อป้อนให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต PP Compound ประมาณ 1.4 แสนตัน/ปี แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ หากได้จำหน่ายให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมากขึ้นก็จะช่วยหนุนปริมาณการผลิตได้เพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนับว่ามีมาร์จิ้นดีกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปราว 10-15%

วันนี้ (16 ธ.ค.) ไออาร์พีซี ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิดโดยไม่ปล่อยให้เกิดของเสียออกจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก (Waste Polymer) เพื่อนำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste โดยไออาร์พีซีเป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง Zero Plastic Waste ในกระบวนการผลิต ถือเป็นต้นแบบที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศ

นอกจากนี้ ไออาร์พีซียังได้นำ Big Data สร้างเป็นฐานข้อมูล Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกจากแหล่งผลิตแต่ละโรงงานทั้งของไออาร์พีซี และ 15 ลูกค้าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น และการบริหารจัดการขยะพลาสติกมีประสิทธิภาพสูง ประหยัดงบประมาณ และยังใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น