เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ว่างลง หลัง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งไปพร้อมๆ กันของ 4 กุมารทีม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ส่งผลให้เก้าอี้พลังงานถูกจับตาเป็นพิเศษด้วยแรงกดดันและแย่งชิงมีสูง โผรายชื่อจึงหลุดออกมาเป็นระยะๆ ส.ค.นี้มีความชัดเจนแน่นอนเพราะลุงตู่บอกไว้เช่นนั้น ดังนั้นหันมามองนโยบายพลังงานที่ค้างท่อรอคนใหม่สะสางก็น่าจับตาไม่แพ้กัน
โรงไฟฟ้าชุมชนค้างท่อ รอวันชี้ชะตา
ผลงานที่ถูกชูมาตลอดและดูจะเป็นนโยบายหลักของ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” คงหนีไม่พ้นพลังงานเพื่อทุกคน (Energy For All) ว่าด้วยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่หมายมั่นปั้นมือในการดึงเอกชนเข้ามาร่วมมือกับชุมชนในการส่งเสริม โดยหัวใจหลักคือสร้างรายได้ให้ชุมชนผ่านการปลูกพืชพลังงาน ผสมผสานกับพลังงานหมุนเวียน โดยเน้นพื้นที่อยู่ปลายสายส่งที่เข้าไม่ถึงเป็นอันดับแรก โดยสนธิรัตน์ปลุกปั้นผ่านการบรรจุไว้ในร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 rev1 ด้วยการทบทวนประเภทเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนลดสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แล้วบรรจุเพิ่มโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังการผลิต 1,933 เมกะวัตต์ (ปี 2563-67) โดยจะทยอยเข้าระบบล็อตแรกปี 2564-65 จำนวน 700 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นประเภทควิกวิน 100 เมกวัตต์ ทั่วไป 600 เมกะวัตต์)
ภาคเอกชนและชุมชนต่างตอบรับนโยบายดังกล่าวอย่างล้นหลาม แต่เมื่อถึงขั้นตอนดำเนินงานในการประกาศรับซื้อกลับไม่คืบหน้าเพราะร่างพีดีพีปรับปรุงใหม่กลับไม่สามารถฝ่าด่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสียที แม้ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการกำหนดเกณฑ์และไทม์ไลน์ไว้แล้วเบื้องต้นก็ตาม และการรอคอยเฉพาะการผ่าน ครม.ใช้เวลาร่วม 3 เดือน จนทำให้เกิดกระแสข่าวสารพัดตั้งแต่มหาดไทยไม่เห็นด้วยกับการที่โรงไฟฟ้าชุมชนจะมีการตั้งกองทุนใหม่มาดูแลทั้งที่มีกองทุนหมู่บ้านอยู่แล้ว หรือกระทั่งข่าวลือกรณีหนังสือร่อนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ท้วงติงร่างพีดีพีฉบับปรับปรุงว่ายังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบโควิด-19 ที่จะทำให้ไฟฟ้าลดลงจึงขอให้มีการทบทวนพีดีพีใหม่อีกครั้งภายใน 6 เดือน โดยทิ้งท้ายทำนองว่าควิกวินนั้นควรไปต่อแต่ส่วนที่เหลือให้ปรับใหม่
จะข่าวลือ ข่าวลวง ยังไงที่สุด ครม.จนแล้วจนรอดก็ไร้วาระพิจารณาร่างพีดีพีปรับปรุงครั้งที่ 1 จนกระทั่งสนธิรัตน์ต้องเป็นฝ่ายลาออกไปเสียเอง จึงทำให้โครงการนี้ยังคงค้างท่อ และเป็นฝันค้างของเอกชนและชุมชนหลายแห่งที่ยังคงต้องรอวันให้รัฐมนตรีใหม่เข้ามาชี้ชะตาว่าจะเดินหน้าต่อหรือจะยกเลิกปรับปรุงอย่างไรแน่ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจเป็นไปได้เช่นกันว่าจะมีการปรับพีดีพีใหม่อีกครั้งเพื่อจัดระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดยกกะบิเพราะว่าด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล
บล็อกเชนซื้อขายปาล์ม-เลิกโซฮอล์ 91 ยังค้างคา
นโยบายของสนธิรัตน์ที่ต่อยอดจากแผนพลังงานทดแทนเดิมโดยชูน้ำมันบนดินด้วยการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากปาล์มและการใช้เอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังและอ้อยเพื่อยกระดับรายได้ให้เกษตรกรถือเป็นผลงานที่โดดเด่นไม่น้อย เพราะสนธิรัตน์สามารถกำหนดให้ดีเซล B10 (ดีเซลผสมบี 100 สัดส่วน10%) เป็นน้ำมันพื้นฐานได้สำเร็จเมื่อ 1 ม.ค. 63 และมีดีเซล B7 และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือกช่วยยกระดับราคาปาล์มให้แก่เกษตรกรในช่วงที่ผ่านมาจนได้รับเสียงชื่นชมจากชาวสวนปาล์มจำนวนมาก
แต่ราคาปาล์มนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งส่วนของบริโภคและพลังงานและผ่านการกำกับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ซึ่งแม้พลังงานจะดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ต่อเนื่องแต่ราคาปาล์มที่เกษตรกรได้รับยังคงตกต่ำ ทำให้ล่าสุดสนธิรัตน์มอบให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) นำร่องทดสอบการติดตั้งเทคโนโลยี Blockchain ในการซื้อขายน้ำมันปาล์มนำร่อง 3 ราย ได้แก่ บ.พลังงานบริสุทธิ์, บ.น้ำมันพืชปทุม และ บ.นิวไบโอดีเซล ที่คาดว่าจะรู้ผลใน ก.ค.นี้ โดยสนธิรัตน์คาดหวังว่าจะเป็นการปฏิรูปการซื้อขายปาล์มตัดพ่อค้าคนกลางออกไปได้ ……งานนี้ก็ต้องมารอว่าจะถูกสานต่อหรือทบทวนอย่างไร
เช่นเดียวกับฟากของเบนซิน ที่เดิมถูกกำหนดไทม์ไลน์ว่าจะมีการยกระดับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซินตามรอยดีเซล B10 โดยเตรียมการไว้จะประกาศดีเดย์วันที่ 1 ต.ค.นี้ และจะนำไปสู่การยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ก็ต้องถูกเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลของผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การใช้น้ำมันลดลง ขณะเดียวกัน การส่งเสริมพลังงานบนดินช่วงนี้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนค่อนข้างมากเหตุที่ราคาเชื้อเพลิงชีวภาพแพงกว่าเนื้อน้ำมันจากฟอสซิล ดังนั้น ล่าสุดแผนงานดังกล่าวจึงมีการประเมินว่าช้าสุดจะเลื่อนไปเป็นกลางปี 2564 แต่ที่สุดหนีไม่พ้นต้องอยู่ที่นโยบายของรัฐมนตรีคนใหม่เป็นสำคัญ
รอจดปากกาเปิดประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบ 23
ก่อนอำลาเก้าอี้พลังงาน “สนธิรัตน์” ยอมรับว่าได้กำหนดที่จะแถลงข่าวไว้แล้ว (ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.ค.) เพื่อที่จะประกาศเปิดให้เอกชนมายื่นประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 23) แต่ที่สุดก็ได้ลาออกจากตำแหน่งเสียก่อนจึงต้องรอให้รัฐมนตรีใหม่มาลงนามประกาศแทน โดยก่อนหน้านี้นโยบายดังกล่าวถูกเลื่อนมาแล้วจากเดิมกำหนดไว้ในเดือน เม.ย. 63 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนไม่สามารถจะเดินทางมาร่วมประมูลได้ ประกอบกับราคาน้ำมันตกต่ำที่อาจไม่จูงใจให้เอกชนมาสำรวจได้จำนวนมาก
การเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ครั้งที่ 23 ในพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมจำนวน 3 แปลงบริเวณอ่าวไทย รวมพื้นที่กว่า 34,873 ตารางกิโลเมตร เป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงานวางเป้าหมายไว้เพื่อให้ประเทศได้มีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ และรักษาระดับปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ให้ลดลง และหากรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ไฟเขียวให้ดำเนินการภายในปีนี้ก็จะถือว่าเป็นการเปิดให้สำรวจอีกครั้งในรอบ 12 ปีนับตั้งแต่ปี 2550 ที่ได้ดำเนินการมาจากนั้นก็หยุดมาตลอด
ตามติดปรับโครงสร้างก๊าซฯ กับแผนนำเข้า LNG
นโยบายว่าด้วยการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อไปสู่เสรีและหนุนให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางภูมิภาค (Hub) เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่สนธิรัตน์ได้ผลักดันไว้ และเริ่มปลดล็อกการผูกขาดธุรกิจก๊าซธรรมชาติโดย บมจ.ปตท.แต่เพียงรายเดียว ผ่านการนำร่องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาเป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ Shipper เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าให้ กฟผ.เองโดยตรง ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังอนุมัติใบอนุญาตเอกชน 3 รายให้เป็น Shipper เพิ่มเติม ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี รวมปัจจุบันมี Shipper 5 ราย
ท่ามกลาง LNG ตลาดจร (Spot) ราคาตกต่ำ มีราคาถูกกว่าราคาใน Gas Pool (ราคาเฉลี่ยของก๊าซจากอ่าวไทย-พม่า-สัญญา LNG ระยะยาว) การจะนำเข้าจึงต้องไม่กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวและมี Take or Pay ซึ่งการนำเข้า LNG และการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 16 ธ.ค. 62 มอบหมายให้ไปศึกษาซึ่งได้ข้อสรุป 2 แนวทาง คือ 1. โครงสร้างกิจการก๊าซฯ แบบ Enhanced Single-Buyer Model (ESB) โดยให้ ปตท.เป็นผู้ซื้อรายเดียวจาก shipper ที่ได้ใบอนุญาตไปทั้งหมด ส่วนทางเลือกที่ 2 คือ การเปิดให้แข่งขันกันแบบเสรีทั้งหมด ตามมติ กพช. วันที่ 31 ก.ค. 2560 ซึ่งแนวทางดังกล่าวเมื่อเปลี่ยนหัวเรือใหญ่จึงต้องรอคนใหม่มาสรุป
ตามต่อปรับเกณฑ์โซลาร์ภาคประชาชนหรือไม่
แผนงานหนึ่งที่สนธิรัตน์ทิ้งไว้ในช่วงโค้งสุดท้ายของการทำงานว่าด้วยการตั้งคณะทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน นำโดยแกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เพื่อหาข้อยุติในการขับเคลื่อนนโยบายโซลาร์ภาคประชาชนที่เป็นนโยบายเดิมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เองและที่เหลือขายโดยรัฐรับซื้ออัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย แต่จนแล้วจนรอดผ่านมากว่า 1 ปีมีคนยื่นเสนอขายไฟล่าสุดเพียง 4 เมกะวัตต์ ขณะที่เป้าหมายเดิมกำหนดไว้ปีละ 100 เมกะวัตต์ และล่าสุดแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP2018Rev.1 กำหนดไว้ปีละ 50 เมกะวัตต์ 5 ปี (ปี 63-67)
คณะทำงานร่วมรัฐและภาคประชาชนดังกล่าวถูกกำหนดให้เร่งหาข้อสรุปและให้สามารถขับเคลื่อนแผนงานภายใน 60 วัน หรือช่วงไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 โดยทลายข้อจำกัดที่ประชาชนไม่อาจเข้าถึงการติดตั้ง ซึ่งก่อนอำลาตำแหน่งสนธิรัตน์ย้ำให้เห็นข้อจำกัดหนึ่งที่ว่า หลังคาบ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะติดตั้งได้ต้องให้วุฒิวิศวกรเซ็นอนุญาต ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เป็นต้น ดังนั้นคงต้องติดตามกันต่อไปว่าที่สุดแล้วนโยบายนี้จะไปต่อหรือต้องถอยกลับมาตั้งต้นใหม่หรือไม่
กองทุนอนุรักษ์ฯ กับงบคั่งค้างจะเดินไปทางไหน
ยังคงต้องจับตาใกล้ชิดกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานหลังการลาออกของทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เป็นประธานบอร์ดชุดใหญ่ และคณะอนุฯ ที่กลั่นกรองเรื่องที่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นประธานโดยล่าสุดแม้ว่าจะมีการตั้ง นายวิษณุ เครืองาม เข้ามาทำหน้าที่แทนสมคิดและสนธิรัตน์แล้วระหว่างรอรัฐมนตรีคนใหม่ แต่แง่ขั้นตอนปัจจุบันที่มีการคัดกรองโครงการที่ยื่นของบฯ ปี 63 เข้าถึง 5,100 โครงการคิดเป็นเงิน 62,616 ล้านบาท สูงกว่างบจริงถึง 11 เท่า (งบ 5,600 ล้านบาท) ซึ่งอยู่ในมือของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการที่มี กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยคาดกันว่าจะมีการรอให้รัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายหลักๆ ที่รอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่มาเคาะชี้ชะตาว่าจะเดินหน้าต่อไป ยกเลิก หรือทบทวนอย่างไร ยังมีงานพลังงานอีกหลายเรื่องที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะโควิด-19 อีกพอสมควร อดใจรอไม่นานคงได้รู้ชัดเจนว่าใครคือผู้จะมากุมบังเหียนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่ 14 และงานค้างท่อเหล่านี้จะเดินไปในทิศทางใดแน่