xs
xsm
sm
md
lg

จับตาบล็อกเชนซื้อขายปาล์มสกัดไอ้โม่งกดราคาเกษตรกร-ลอบนำเข้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เชื้อเพลิงชีวภาพหากทำแล้วประชาชนต้องแบกรับภาระซื้อน้ำมันราคาแพงขึ้น เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์ ผมจึงขอให้กระทรวงพลังงานเปลี่ยน Mildset (ความคิด) เสียใหม่ว่า หากทำนโยบายนี้แล้วเกษตรกรยังถูกกดราคา เอกชนยังรวยอยู่ไม่กี่คนอย่าทำเลย และผมจะไม่ยอม” นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา

หากใครติดตามนโยบายน้ำมันบนดินของ “สนธิรัตน์” คงจะไม่แปลกใจที่เหตุใดต้องมีอารมณ์กันหน่อยเพราะที่ผ่านมาได้ส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพเต็มสูบ โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลหรือน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% (B100) ที่สกัดจากน้ำมันปาล์ม หวังยกระดับราคาให้เกษตรกรด้วยการกำหนดให้น้ำมันดีเซล B10 ( ดีเซลจากปิโตรเลียมผสมไบโอดีเซล 9-10%) เป็นดีเซลพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 แทนน้ำมันดีเซล B7 (ดีเซลผสมไบโอดีเซลสัดส่วน 6-7%) ที่เป็นทางเลือกสำหรับรถเก่า และรถยุโรปที่ยังรองรับไม่ได้ และมี B20 (ดีเซลผสมไบโอดีเซล 19-20%) เป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่

กระทรวงพลังงานได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาส่งเสริมด้วยการทำราคาให้ต่ำ โดยมติคณะกรรมการบริหารกองทุนเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 63 ให้ปรับอัตราเงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อขยายส่วนต่างราคาดีเซล B10 ให้ต่ำกว่า B7 ลิตรละ 3 บาท จากเดิมลิตรละ 2 บาท และปรับลดส่วนต่างราคาน้ำมัน B20 ให้ต่ำกว่า B7 ลิตรละ 3.50 บาท จากเดิมลิตรละ 3 บาท และ ณ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ยังอุดหนุนดีเซล B10 ลิตรละ 2.50 บาท B20 ลิตรละ 4.16 บาท

แม้การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหลังเผชิญโควิด-19 จะทำให้ยอดใช้ตกลงไปบ้างแต่ปัจจุบันเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น แต่ราคาปาล์มที่เกษตรกรได้รับยังต่ำอยู่ดี โดยล่าสุดการเคลื่อนไหวราคาปาล์ม ณ วันที่ 26 มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 2.40- 2.80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ทั้งที่ผลผลิตปาล์มนั้นใกล้หมดลงแล้วและรอที่จะเก็บเกี่ยวในฤดูผลิตใหม่ แต่หากเมื่อมองย้อนกลับไปที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อยู่ที่ 17-18 บาทต่อ กก. และ B100 ที่ 25.93 บาทต่อลิตรซึ่งสูงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลเสียอีก และส่วนต่างระหว่าง B100 กับ CPO เริ่มสูงมากเช่นกัน และก่อนหน้านี้ส่วนต่างระหว่าง CPO กับปาล์มทะลายก็สูงเช่นกัน ดังนั้น เมื่อนำผสมดีเซลก็ย่อมทำให้ราคาน้ำมันที่ผู้บริโภคได้รับแพงขึ้น ซึ่งหากระดับราคาที่แพงนั้นได้ย้อนกลับไปช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับราคาปาล์มที่สูงขึ้นก็ย่อมมีเหตุผลที่ประชาชนพอจะรับได้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เคยระบุสูตรคำนวณว่า หากราคา CPO อยู่ที่ 21 บาทต่อ กก. ราคาผลปาล์มน้ำมัน (18%) ควรจะมีราคาอยู่ที่ 3.59 บาทต่อ กก. โดยที่ผ่านมาส่วนต่างนี้ห่างกันพอสมควรและมีการเรียกร้องแต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครมองส่วนต่างราคากับ B100 นัก และเมื่อย้อนไปดูราคา CPO ของมาเลเซีย ช่วง พ.ค. 63 เฉลี่ย 15-16 บาทต่อ กก. ก็พบว่า CPO ของไทยเฉลี่ย 19-20 บาทต่อ กก. จึงเห็นว่าส่วนต่างนี้ก็อาจจะจูงใจให้เกิดการลักลอบได้หากไม่มีการดูแลที่ดี ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ยืนยันว่าได้เข้ามาควบคุมดูแลปัญหานี้แล้ว ก็ว่ากันไป

ย้อนไปดูปัญหาราคาปาล์มน้ำมันของไทยตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาจะเป็นวงจรเดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ราคาเกษตรกรที่ได้รับมักจะตกต่ำอยู่เสมอ และเรามักจะเห็นภาพที่เกษตรกรต้องมาเทปาล์มประท้วงเพื่อเรียกร้องราคาเพิ่ม และมาตรการหนึ่งที่ถูกหยิบยกให้มาช่วยเหลือ นั่นคือ การมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเพิ่มสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซล โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ค่อยๆ ขยับจากดีเซล B2 เป็น B5 B7 อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำมันปาล์มจะมีเพียงพอ เพราะในบางช่วงก็เคยต้องถอยกลับไปลดสัดส่วนการผสมให้เห็นแล้ว ก่อนจะมาถึงการบังคับเป็นดีเซล B10 ในปัจจุบัน

การประกาศให้ดีเซล B10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน และดีเซล B และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือกมีเป้าหมายผลักดันการใช้ไบโอดีเซล (B100) ให้ได้ประมาณสิ้นปีนี้ 7 ล้านลิตรต่อวัน แต่ขณะนี้การใช้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 5 ล้านกว่าลิตรต่อวัน ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศ (หรือประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี) ดังนั้น จะเห็นว่าสัดส่วนการใช้ในภาคพลังงานจะเริ่มมีมากกว่าการบริโภค และยิ่งเมื่อหันมามองน้ำมันปาล์มขวดลิตรที่ราคา 35-42 บาทก็ยิ่งน่าสงสัยเหตุใดราคาปาล์มที่เกษตรกรได้รับยังคงตกต่ำเช่นนั้น และนี่ยังไม่รวมกับที่ก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเข้ามาจัดซื้อ CPO 2 แสนตันเพื่อไปผลิตไฟฟ้าที่บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อช่วยแก้ไขราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ใช้วงเงินกว่า 5,000 ล้านบาทไปแล้ว

กระทรวงพลังงานภายใต้การนำของ “สนธิรัตน์” ล่าสุดได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ปฏิรูปราคาปาล์มด้วยการใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” (Blockchain) มาบริหารการซื้อขาย CPO ที่นำไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซล (บี100) ที่จะมีการเก็บข้อมูลราคาปาล์มที่เกษตรกรขายได้ ราคาปาล์ม ณ ลานเท และ ณ โรงสกัด ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่โรงสกัดฯ ขายได้ และราคาบี 100 ณ โรงงานผลิต และราคาไบโอดีเซล ณ โรงกลั่นน้ำมัน เพื่อให้ราคาสมเหตุสมผลตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่น หาก CPO ระดับราคา 25-26 บาท กก. ราคาปาล์มทะลายที่เกษตรกรขายได้ก็ควรอยู่ที่ 4-4.50 บาทต่อ กก. เป็นต้น แนวทางนี้จะทำให้ตัดวงจรพ่อค้าคนกลางที่จะกดราคากับเกษตรกร

ทั้งนี้ ธพ.ได้มีการทดลองนำร่อง 3 แห่ง ที่สุราษฎ์ธานี กระบี่ และปทุมธานี แล้วประมาณ 1.2 แสนลิตร และคาดว่าจะทราบผลช่วงกลาง ก.ค.นี้ หากประสบผลสำเร็จจะขยายผลเป็น 30 ล้านลิตร โดยล่าสุดได้มอบหมายให้ บมจ.ปตท.ผู้รับซื้อ B100 รายใหญ่ดำเนินการรับซื้อทั้งหมดกับโรงงานที่เข้าระบบบล็อกเชนเท่านั้น โดยแนวทางดังกล่าวเป็นไปด้วยดี ก็ยังหวังจะนำไปใช้กับระบบการซื้อขายเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำไปผสมกับเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ต่อไป …ดังนั้น บล็อกเชนคือความหวังใหม่ของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม


“ผมเห็นด้วยนะกับการนำบล็อกเชนมาซื้อขาย และหวังว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกลไกอะไรก็แล้วแต่ที่จะเข้ามาสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรนั่นคือสิ่งที่เดินมาถูกทางแล้ว เพราะทุกวันนี้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มถูกเอาเปรียบ ขณะนี้ราคาปาล์มทะลายเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 2.40-2.80 บาทต่อ กก.ทั้งที่ใกล้หมดฤดูเก็บเกี่ยว มันเกิดอะไรขึ้น เราถูกกดราคาโดยไร้เหตุผล แต่ B100 อยู่ที่ 25.95 บาทต่อลิตร CP0 เฉลี่ย 18-19 บาทต่อกก. น้ำมันปาล์มขวดลิตร 42 บาท พาณิชย์จะตอบอย่างไร” นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยกล่าว

เขาชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตที่ลดลงที่ผ่านมายังพบว่าปริมาณสต๊อก CPO ระดับที่ 2.7 แสนตันเดือน พ.ค. แต่ล่าสุดกลับขยับมาสู่ระดับ 3.7 แสนตัน ทั้งที่การใช้ CPO สำหรับเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นและอยู่ในภาวะที่สมดุล แต่การเพิ่มขึ้นของสต๊อกทำให้อดคิดไม่ได้ว่ามีกระบวนการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียงหรือไม่ การนำบล็อกเชนมาบริหารจัดการไม่เพียงทำให้เกิดสมดุลการใช้น้ำมันปาล์มและราคา CPO จะสอดรับกับราคาปาล์มของเกษตรกร แล้วสิ่งที่ได้ตามมาคือการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าโรงงานซื้อปาล์มจากสวนไหน ประมาณเท่าใด ทำให้ไม่มี CPO ส่วนเกิน

นอกจากนี้ รัฐเองกำหนดให้โรงงานรับซื้อวัตถุดิบที่มีน้ำมันไม่น้อยกว่า 18% สำหรับโรงหีบแยก (รับปาล์มทั้งทะลาย) และไม่น้อยกว่า 30% สำหรับโรงหีบรวม (รับเฉพาะผล) แต่เปอร์เซ็นต์ก็ถูกกำหนดโดยโรงงานที่มักอ้างสารพัดว่าเปอร์เซ็นต์ต่ำทั้งที่กฎหมายก็ระบุว่าถ้าต่ำห้ามซื้อแล้วทำไมถึงซื้อ กฎหมายมีไว้ทำไม ขณะเดียวกัน เปอร์เซ็นต์ที่ต่ำเพราะโรงสกัดรับซื้อลูกร่วงแล้วมากดราคาซึ่งเกษตรกรพยายามพัฒนาการผลิตมานานนับ 5 ปียังไม่ได้ 18% เป็นไปได้อย่างไร นี่เกษตรกรกำลังถูกควบคุมให้ขายต่ำกว่าต้นทุนเช่นนั้นหรือ เมื่อหันไปดูมาเลเซีย CPO อยู่ที่ 17-18 บาทต่อ กก. พบว่าผลปาล์มเกษตรกรขายได้ 3 บาทกว่าต่อ กก. เหตุใดเขาทำได้

สอดคล้องกับความเห็นของ นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ ที่ระบุว่า เขารู้สึกเหนื่อยมากที่ราคาปาล์มปีนี้เฉลี่ยเกษตรกรได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นทั้งที่มีน้ำมันดีเซล B10 B20 มาเพิ่มสัดส่วนการใช้ที่มากขึ้น และที่สำคัญผลผลิตปาล์มปีนี้ก็ไม่ได้โอเวอร์ไปกว่าปีก่อนๆ แต่อย่างใด ส่วนการใช้บล็อกเชนมาบริหารการซื้อขายหากดำเนินการได้จริงถือเป็นเรื่องที่ดี

“ที่ผ่านมาเกษตกรได้เรียกร้องให้มีการติดตั้งมิเตอร์ที่โรงงานสกัดปาล์มเพื่อตรวจสอบปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ก็เห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม วงเงิน 372.51 ล้านบาท เพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐสามารถบริหารจัดการ และควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม จำนวน 455 ถัง ของผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์ม โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานไบโอดีเซล และคลังรับฝาก แต่ที่สุดงบนี้ก็ถูกชักกลับไป โดยอ้างว่าช่วงโควิด-19” นายชโยดมกล่าว

นี่คือเสียงสะท้อนจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ที่ยังคงรอความหวังจากบล็อกเชนว่าจะมีส่วนเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาปาล์มอย่างยั่งยืน เพราะไม่ต้องการนโยบายประกันรายได้เช่นที่เป็นอยู่ที่รัฐได้ดำเนินปี 2562-2563 โดยกำหนดราคาประกันไว้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท ไม่เกิน 25 ไร่ต่อครัวเรือน เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณทั้งที่ราคาปาล์มหากยึดโครงสร้างที่เหมาะสมรัฐแทบไม่ต้องประกันรายได้แต่อย่างใด … วงจรปาล์มน้ำมันที่มีผลประโยชน์มหาศาลเป็นเดิมพันและเกี่ยวโยงกับการเมืองจะสามารถปฏิรูปได้หรือไม่ คงต้องรอพิสูจน์กันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น