รองโฆษกรัฐบาล แถลง ครม.เดินหน้านโยบายปาล์มน้ำมัน เร่งรัดการใช้ผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมไบโอดีเซล ติดตั้งเครื่องวัดควบคุมสต๊อก
วันนี้ (14 ก.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ ว่า ที่ประชุมรับทราบมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้น้ำมันปาล์มในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า ปี 2563 จะมีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลลดลงประมาณ 8.2% โดยในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 จะลดลงจาก 67 ล้านลิตรต่อวัน เหลือประมาณ 61-62 ล้านลิตรต่อ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ทั้งนี้ มติการประชุมของคณะกรรมการ มีดังนี้
1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และ นครศรีธรรมราช
2. ให้กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เร่งรัดการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือ จำนวน 37,550 ตันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
3. มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตพิจารณาจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่สำรองอีก 100,000 ตัน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง หากยังไม่สามารถดูดซับระดับสต๊อกส่วนเกินได้ หรือสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันยังไม่ดีขึ้น (ตามมติ ครม.เมื่อ 27 สิงหาคม 2562) ทั้งนี้ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาความคุ้มค่าในการดำเนินการและภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น
4. ให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเร่งรัดในการรณรงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ และสถานีบริการเพื่อให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบสามารถรองรับปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้
5. ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณจำนวน 372.56 ล้านบาท ให้กรมการค้าภายในเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์มตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการเงินโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2562-2563 วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรจำนวน 3.5 แสนครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 7 งวด โดยในงวดที่ 3 งวดที่ 4 และงวดที่ 5 ไม่มีการจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากราคาตลาดอ้างอิงสูงกว่าราคาเป้าหมาย (กิโลกรัมละ 4 บาท) สำหรับงวดที่ 7-9 ได้มีการปรับเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยให้เร็วขึ้นเป็นทุก 30 วัน (จากเดิม 45 วัน) เพื่อประชาชนจะได้รับเงินได้เร็วขึ้น