xs
xsm
sm
md
lg

รัฐจ่อเลื่อนบังคับใช้ยูโร 5 ไปปี 68 ปตท.ยันโรงกลั่นในเครือฯ เสร็จตามแผนเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ วันที่ 20 ก.ค.นี้ เพื่อปรับแผนประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จากแผนเดิมจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นวันที่ 1 ม.ค. 68 เนื่องมาจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันได้เสนอขอเลื่อนจากผลกระทบการล็อกดาวน์เพื่อสกัดกั้นโรคโควิด-19 มีการปิดสนามบิน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาตรวจงานปรับปรุงโรงกลั่นของไทยได้ ทำให้การลงทุนของทุกโรงกลั่น มูลค่ารวมราว 5 หมื่นล้านบาท ต้องล่าช้ากว่าแผน

ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นในเครือ ปตท.ยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนงานเดิมในการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 แม้ว่ากระทรวงพลังงานมีแผนจะเลื่อนการบังคับใช้น้ำมันยูโร 5 ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมบังคับใช้ 1 ม.ค. 2567

เนื่องจากโรงกลั่นไทยออยล์อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว ยังปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน มูลค่าการลงทุน 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้คาดว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 40.5-43 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ราคาน้ำมันจะดีขึ้น แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัย เช่น โควิด-19 หากเกิดการระบาดรอบ 2 ความต้องการใช้น้ำมันก็จะหายไป, กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันลดกำลังการผลิตได้ตามสัญญาหรือไม่ รวมถึงสงครามทางการค้า เป็นต้น โดยในช่วงที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.มีการปรับตัว โดยปรับลดกำลังการกลั่นน้ำมันลงเหลือ 80% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด เทียบกับโรงกลั่นนอกกลุ่ม ปตท.ที่บางรายลดการกลั่นเหลือ 60-70%

นายอรรถพลกล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งว่า ขณะนี้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้อนุมัติในหลักการให้องค์การเภสัชฯ ร่วมมือกับ ปตท.ในการตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งแล้ว หลังจากนี้จะศึกษาเทคโนโลยี และออกแบบโรงงาน รวมทั้งสรุปเงินลงทุนที่ชัดเจน คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1-2 ปีนี้

ทั้งนี้ ปตท.ได้ร่วมมือกับองค์การเภสัชฯ เพื่อตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งในไทย มีส่วนสำคัญช่วยร่นเวลาทำให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จได้เร็วขึ้น 3-4 ปี หากองค์การเภสัชฯ ดำเนินการเพียงลำพังจะใช้เวลานานถึง 10 ปีจึงจะแล้วเสร็จ เนื่องจาก ปตท.มีความชำนาญในการก่อสร้างโรงงานและการบริหารจัดการโรงงาน ส่วน ปตท.จะเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการนี้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับองค์การเภสัชฯ แต่เบื้องต้น ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานดังกล่าวแล้วให้องค์การเภสัชฯ เช่าใช้ในการผลิตยารักษามะเร็ง เพื่อหวังให้คนไทยสามารถเข้าถึงยารักษามะเร็งได้ในราคาถูกกว่ายามะเร็งนำเข้าถึง 50%


กำลังโหลดความคิดเห็น