“สนพ.” เผยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทรงตัวหลังความต้องการขยับจากหลายประเทศคลายล็อกดาวน์โดยเฉพาะสหรัฐและจีนที่ตัวเลขศก.ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงกังวลการกลับมาระบาดรอบใหม่ แม้โอเปกพลัสยังเดินหน้าลดกำลังการผลิตแต่อุปทานอาจเพิ่มขึ้นเหตุสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซียมีแผนจะผลิตน้ำมันดิบเพิ่มอีก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวโดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่สูงขึ้น หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง(ล็อกดาวน์) โดยตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีนปรับตัวดีขึ้น แสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันปัจจัยหนุนจากข่าวดีเรื่องการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ แต่ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าปัจจุบันยังไม่ผ่านพ้นสภาวะเลวร้าย โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ตามข้อตกลงของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกและพันธมิตรหรือ โอเปกพลัส( OPEC+ ) ที่จะลดกำลังการผลิตลงมาอยู่ที่ 7.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. 63 (ลดจากเดือน พ.ค.-ก.ค.63 ซึ่งลดที่ระดับ 9.6-9.7 ล้านบาร์เรล/วัน) แม้จะทำให้อุปทานลดลงแต่ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซียมีแผนจะผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค. 63 รวมทั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียมีแนวโน้มจะกลับมาดำเนินการผลิตและส่งออกอีกครั้ง หลังหยุดชะงักนานกว่า 6 เดือน ประกอบกับการขุดเจาะในสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ในช่วงหลังของปี 2563 หากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ในระดับสูงกว่า 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก 29 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 42.17 และ 39.86 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.05 และ 0.70 เหรียญต่อบาร์เรลโดยราคาปรับขึ้นหลังตัวเลขทางเศรษฐกิจทั่วโลกเดือน มิ.ย. มีทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ ดัชนีกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 52.6 สูงสุดในรอบ 1 ปี และดัชนีรวมของยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 75.7 รวมทั้งจีนที่เผยกำไรภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 %เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว
ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูป เบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 45.75, 43.50 และ 44.71 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.87, $2.01 และ 2.00 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 48.93 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.07 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.06 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ระดับเฉลี่ย 31.1556 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.35 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.03 บาทต่อลิตร) ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.30 บาทต่อลิตร (โดยมีค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา - กรุงเทพฯ อีก 0.15 บาทต่อลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.39 บาทต่อลิตร