ส.อ.ท.เกาะติดนายกฯ ตั้งทีมเศรษฐกิจแทนสี่กุมารใกล้ชิดหวังให้ชัดเจนโดยเร็ว รอถึง ส.ค.อาจช้าไป เพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้เกิดสะดุด เผยไตรมาส 3-4 งานหิน ศก.ไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเพียบ แรงซื้อไทยอ่อนแรงหลังมาตรการดูแลเริ่มหมด ส่งออกดิ่ง ขณะที่กลุ่มพลังงานหมุนเวียนหวัง รมว.พลังงานคนใหม่สานต่อโรงไฟฟ้าชุมชน
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนยังคงติดตามการแต่งตั้งทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลภายหลังการลาออกของทีมสี่กุมารใกล้ชิดเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม หากเป็นไปได้ต้องการเห็นความชัดเจนโดยเร็ว เพราะระหว่างนี้อาจกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่ไม่ต่อเนื่องและล่าช้าออกไปได้ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้ยังคงอ่อนแอจากผลกระทบโควิด-19
“ยิ่งล่าช้าจะมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเอกชนคาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจใหม่จะเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป และที่สำคัญควรเป็นทีมที่จะสามารถทำงานแบบบูรณาการร่วมกันได้ เพราะที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างทำงานและขึ้นตรงกับรองนายกฯ ที่เป็นคนของพรรคเดียวกันดังนั้น สิ่งนี้หากเป็นไปได้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่สามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้กับกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ การปรับ ครม.ใหม่หากปรับทีมเศรษฐกิจเฉพาะตำแหน่งที่ว่างจากการลาออกไปและต่างคนยังต่างทำงานก็อาจไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงได้มาก ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงควรปรับวิธีทำงานด้วยเพราะการบริหารเศรษฐกิจหลังจากนี้มีความท้าทายพอสมควรแม้ว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นไปแล้วจากการต้องปิดเมือง (ล็อกดาวน์) แต่เม็ดเงินในการกระตุ้นที่ผ่านมาต่างๆ เริ่มจะทยอยหมด จำเป็นต้องฝากความหวังกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท เนื่องจากผลกระทบซึ่งต้องการขับเคลื่อนให้ต่อเนื่องและทันเวลา
นายเกรียงไกรกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3-4 แม้ว่าจะดีขึ้นจากคลายล็อกดาวน์และไทยควบคุมโควิด-19 ในประเทศเป็นไปด้วยดีในภาพรวม แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ระบาดรอบที่ 2 และในแง่เศรษฐกิจยังเผชิญความท้าทายถือเป็นงานหินที่ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเร่งมาแก้ไขกับปัญหาของภาคธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากแรงซื้อในประเทศที่อ่อนแอ และการส่งออกที่ชะลอตัว ที่ขณะนี้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น
“งบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทีมเศรษฐกิจเดิมวางไว้เป็นสิ่งที่เอกชนเองก็ต้องติดตามว่าจะขับเคลื่อนได้ต่อเนื่องไหม เราก็กังวล และขับเคลื่อนแล้วได้ใช้ให้ตรงจุดและทันเวลาหรือไม่ เปรียบเทียบเอสเอ็มอีเหมือนคนที่ป่วยต้องใช้ออกซิเจนหายใจ แต่มีใช้แค่ 10 วัน แต่ 20 วันรัฐค่อยออกมาตรการมาช่วยก็ถือว่าไม่ทันเวลาแล้ว แบบนี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานด้านพลังงานชีวมวล กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า นโยบายกระทรวงพลังงานว่าด้วยโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นโครงการที่ยังเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้เพราะเป็นโครงการที่ดีที่ทำให้เอกชนจับมือกับชุมชนที่จะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่สานต่อ
“ผมยังเชื่อว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะส่วนหนึ่งมติ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและโรงไฟฟ้าชุมชนก็อยู่ในนั้น แต่โครงการนี้ผูกติดในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี-2018) ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ต้องผ่าน ครม.ก่อนซึ่งก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แม้ว่าบางฝ่ายอาจมองว่าโควิด-19 จะทำให้สำรองไฟฟ้าสูงขึ้น แต่โรงไฟฟ้าต้องมองในมิติการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น ควรมองมุมกลับคือการกู้เศรษฐกิจ” นายนทีกล่าว