โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด
ครึ่งปี 2563 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว นับว่าเป็นปีที่มีความผันผวนสูงมาก โดยดัชนี SET Index ได้ปรับตัวลงจากสิ้นปี 2562 ที่ 1,579 จุด ลงไปปิดต่ำสุดที่ 1,024 จุด เมื่อเดือนมีนาคม ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาที่ 1,339 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน โดยปัจจัยหลักที่กดดันตลาดนั้นคงทราบอย่างดีทั่วกันว่าวิกฤต COVID-19 ได้สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ในบทความฉบับนี้เราจะมาสรุปพัฒนาการของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทยครับ
ในด้านปัจจัยเชิงลบ เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างเพียงแค่ระยะเวลาอันสั้นจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงจากมาตรการ Lock down โดยในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง ในช่วงเดือนพฤษภาคมเรายังคงเห็นตัวเลขการส่งออกติดลบ -23% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และถ้าหากเราไม่นับในส่วนของการส่งออกทองคำแล้วตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤษภาคมติดลบกว่า -29% นอกจากนี้แล้ว การลดลงของนักท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญได้ส่งผลกระทบทางลบทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นกัน
ในปี 2562 นั้นโดยเฉลี่ยแล้วประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวรวมตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 42 ล้านคน คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 ล้านคนต่อเดือน ในขณะที่ COVID 19 เริ่มระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้น ประกอบกับการใช้มาตรการป้องกันนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมานั้นลดเหลือเพียงแค่ประมาณ 3 หมื่นคนต่อเดือน และมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2563 นักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทยจะมียอดไม่ถึง 10 ล้านคน การลดลงของนักท่องเที่ยวนั้นส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจผ่านทางรายได้ที่ลดลง จากการจ้างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องมีการเลิกจ้างชั่วคราวซึ่งจะนำไปสู่การบริโภคที่ชะลอตัวลง รวมไปถึงปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่าวิกฤต COVID-19 นั้นได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ทุกท่านคงเห็นได้ชัดถึงความไม่สอดคล้องกันของเศรษฐกิจจริง และระบบตลาดทุน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของสภาพคล่องจากนโยบายทางการเงินที่ผมได้เคยเขียนไว้ในบทความครั้งที่แล้ว ที่เป็นผลมาจากดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ รวมไปถึงการทำ QE ในปริมาณที่มหาศาลนั้นส่งผลให้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างเงินฝากธนาคารและตราสารหนี้ได้ไหลไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าอย่างตราสารทุน โดยเวลาที่ธนาคารกลางอย่าง Fed ได้ออกมากล่าวว่าจะยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างไม่จำกัดนั้นมักจะสร้างความหวังให้แก่นักลงทุนว่าจะสามารถผ่านวิกฤตไปได้ แต่อย่างไรก็ตามแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ Lock down เราเริ่มเห็นถึงการเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้ติดเชื้ออีกครั้งในหลายประเทศที่มีพัฒนาการที่ดีในช่วงก่อนหน้า อาจจะกลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนเริ่มต้องกลับมาพิจารณาถึงความเป็นจริงอีกครั้งหนึ่ง
โดยในครึ่งปีหลังนั้น ปัจจัยที่นักลงทุนต้องจับตาพัฒนาการเป็นพิเศษ ได้แก่ ความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของ COVID-19 ที่จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะต้องหยุดชะงักส่งผลให้การฟื้นตัวไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดไว้ในตอนแรกว่าจะเป็นไปในลักษณะ V shape แต่จะกลับกลายเป็น W shape มากกว่า จนกว่าที่เราจะสามารถหาวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันได้ นอกเหนือไปจากประเด็นของ COVID-19 แล้ว การเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญก็สามารถสร้างความผันผวนต่อการลงุทนในตลาดหุ้นได้เช่นกัน และอีกหนึ่งปัจจัยที่เรามองข้ามไม่ได้คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่คาดว่าน่าจะมีข่าวเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างเช่นสงครามทางการค้า ที่อาจจะสร้างความผันผวนต่อนักลงทุนได้ด้วย Valuation ปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนเป็นพิเศษครับ