FETCO มอง SET Q3/63 ทรงตัว เชื่อรัฐคุมโควิดได้แม้เสี่ยงระบาดรอบสอง คาดหากมีการระบาดก็จะไม่รุนแรงเหมือนในหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้แรงเทขายหุ้นคงไม่รุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ลุ้นเป้าดัชนี 1,450 จุดปีนี้
นายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/63 คาดว่าจะทรงตัว แม้ไทยจะมีความเสี่ยงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะมีการแพร่ระบาดในรอบสองก็ตาม เนื่องจากเชื่อว่าไทยมีมาตรการควบคุมที่ดีพอสมควร ทำให้หากมีการระบาดก็จะไม่รุนแรงเหมือนในหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้แรงเทขายหุ้นคงไม่รุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้น
ขณะที่การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/63 หลังจากที่ไทยเปิดการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศกับประเทศที่มีการติดเชื้อต่ำ (Travel Bubble) ที่น่าจะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น และการผ่อนคลายล็อกมาตรการคุมเข้มสกัดการแพร่ระบาดจะเริ่มเห็นผลชัดเจนมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้จะช่วยผลักดันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศ โดยเป้าหมายดัชนี SET จนถึงสิ้นปีนี้มองไว้ที่กว่า 1,400 จุด ถึง 1,450 จุด
"ไตรมาส 3/63 ตลาดหุ้นน่าจะนิ่งๆ นอกจากมีข่าวดีอะไรออกมา ส่วนข่าวร้ายก็แน่นอนถ้าการระบาดรอบสองมีความรุนแรงขึ้นในบ้านเราตลาดหุ้นก็พร้อมปรับลงได้ในระยะสั้น แต่คงลงไม่มาก คิดว่าดูแล้วเรามีมาตรการที่คุมได้ดีพอสมควร การระบาดรอบสองไม่น่าจะรุนแรงเหมือนในหลายประเทศที่เราเห็น แรงเทขายคงไม่รุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้น แต่คงจะมีบ้าง ถ้ามีความรุนแรงขึ้นในไตรมาส 3 คงไม่มีข่าวดีอะไรออกมาที่ทำให้ราคาปรับขึ้นแรงๆ นอกจากเรื่องวัคซีน แล้วมีแนวโน้มจะนำมาใช้ได้ ก็จะเป็นข่าวดีที่ตลาดรอคอยอยู่ ถ้าดูตลาดมีโอกาสฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ ไตรมาส 4 น่าจะเป็นไตรมาสที่มีความชัดเจนมากกว่า" นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยระยะสั้น สำหรับวันนี้ตลาดคงปรับลงไม่มาก แม้มีความเสี่ยงการระบาดรอบสองในประเทศ เพราะในประเทศที่พบการระบาดรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นก็ไม่ได้ปรับลงแรงมาก อย่างในสหรัฐฯ ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทำสถิติสูงสุดต่อวันหลายครั้ง แต่ดัชนีหุ้นก็ยังปรับขึ้นได้ เนื่องจากมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงนี้กระทบธุรกิจขนาดเล็ก แต่ธุรกิจที่อยู่ในตลาดหุ้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสายป่านพอสมควร แม้ผลการดำเนินงานอาจจะลดลงบ้างแต่ส่วนใหญ่ไม่ถึงขั้นต้องปิดกิจการ ไม่เหมือนกับคราววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 40 ที่กระทบต่อธนาคารขนาดใหญ่
สำหรับตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นมาสวนทิศทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีทิศทางชะลอตัวนั้น มองว่าน่าจะเกิดจากตลาดหุ้นที่ปรับลงมาค่อนข้างมาก หากไม่นับรวมช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลงมาต่ำกว่า 1,000 จุดเมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกฝ่ายยังสับสนต่อสถานการณ์โควิด-19 โดยเมื่อเทียบดัชนีหุ้นไทยวันนี้ที่อยู่ราว 1,340 จุด กับระดับ 1,750 จุดเมื่อปีที่แล้ว ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหายไป 4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมาพอสมควร โดยยังไม่ได้ปรับตัวขึ้น
ส่วนเม็ดเงินที่หลายประเทศอัดฉีดสภาพเข้าระบบผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบมากนัก โดยเฉพาะในกองทุนต่างๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ก็เชื่อว่าตลาดหุ้นจะมีทิศทางสอดคล้องในทางเดียวกัน
ด้านกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ เชื่อว่านักลงทุนยังคงต้องมีหุ้นอยู่ในพอร์ต เพราะด้วยสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้การที่จะหาผลตอบแทนจากการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ก็คงจะทำให้ไม่สามารถได้ผลตอบแทนที่เพียงพอ โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลกที่น่าจะยังจำเป็นต้องหันมาลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ประกอบกับบริษัทในตลาดหุ้นที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบันค่อนข้างน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอี ก็ทำให้เชื่อว่าจะยังมีเม็ดเงินย้ายเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น