xs
xsm
sm
md
lg

“ทรีนีตี้” คาด COVID-19 อาจทำเศรษฐกิจทรุดยาว 3 ปี แนะระวัง 7 ปัจจัยเสี่ยงปลาย Q3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
“ทรีนีตี้” คาดเศรษฐกิจไทยใช้เวลา 2 ปีครึ่งถึง 3 ปีจึงจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตเท่าช่วงก่อน COVID-19 ระบาด ด้านการลงทุนครึ่งปีหลังเกาะติด 7 ปัจจัยเสี่ยง คาดเกิดปลายไตรมาส 3 มองดัชนีไตรมาส 3 ปรับตัว Sideways กรอบกว้าง 1,250-1,450 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์เดือน ก.ค.หุ้นขึ้นขาย หุ้นลงซื้อ เลือกหุ้นเติบโต มีโอกาสได้ผลตอบแทนดี

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ว่า การลงทุนจะต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 7 ประการที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ประกอบด้วย 1) ระดับการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่อาจเริ่มชะลอลง หรือที่เรียกว่า Tapering 2) ระดับการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ 3) การระบาดของ COVID-19 รอบสองที่อาจรุนแรงมากขึ้น หลังจากประเทศต่างๆ เริ่มกระบวนการ Reopening และสิ่งที่สำคัญคือ ถ้ามีการ Lockdown รอบสอง หลายประเทศอาจจะไม่มีกระสุนที่จะอัดฉีดนโยบายการคลังต่อ 4) ความผันผวนในช่วงเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 5) ผลประกอบการของ บจ.ไตรมาส 3 ที่อาจไม่สามารถฟื้นจากไตรมาส 2 ได้จริง 6) การหมดอายุของมาตรการ Uptick rule ในช่วงปลายเดือนกันยายน 7) คุณภาพสินเชื่อจะมีการถดถอย

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาตลาดทุนโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 30-50% เป็นผลจากธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมาตรการทางการคลังของประเทศต่างๆ รวมกว่า 15-16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือน ตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่หุ้นไทยก็ขึ้นมาซื้อขายที่ระดับ PE ที่ 20-21 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แพง ขณะที่เมื่อดูการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตของไทยปี 2563 ลงมาสู่ระดับ - 8.1% จาก - 5.3% ซึ่งเป็นการเติบโตต่ำสุดใกล้เคียงกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจาก -3% มาสู่ระดับ -4.9% และยังยอมรับว่ามีโอกาสปรับลดลงกว่านี้ และมองว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี ในการฟื้นตัวมาเท่ากับสมัยก่อนเกิด COVID-19 เป็นการฟื้นตัวแบบรูปตัวยู

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 SET Index แกว่งตัว Sideways และมีกรอบกว้างมาก โดยประเมินกรอบแนวรับแรกของ SET ที่ 1,300 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward PE 15.7 เท่า และอิงกับประมาณการ EPS ปี 2021 ที่ 83 บาท ส่วนกรอบแนวรับสำคัญประเมินที่ 1,250 จุด ขณะที่ กรอบแนวต้านแรกของ SET ที่ 1,400 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward PE 16.8 เท่า และอิงกับประมาณการ EPS ปี 2021 ที่ 83 บาท ส่วนกรอบแนวต้านสำคัญประเมินที่ 1,450 จุด

ขณะเดียวกัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ SET จะเคลื่อนไหว Sideways กรอบกว้างในไตรมาส 3 เนื่องจาก Upside ยังคงถูกจำกัดจากประเด็น Valuation เป็นสำคัญ และถึงแม้ว่าสภาพคล่องจะท่วมท้นแต่จะเห็นว่า Flow เหล่านั้นกลับเลือกที่จะไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ของไทยแทน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนแท้จริงที่น่าสนใจ โดยนักลงทุนต่างประเทศซื้อตลาดพันธบัตรไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นดอลลาร์แคร์รีเทรด จึงเป็นเหตุให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยนั้น นักลงทุนต่างประเทศจะสนใจเป็นลำดับท้ายๆ ของเอเชีย เพราะตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่มี Valuation สูงสุด ต่างประเทศขายหุ้นไทยกว่า 2 แสนล้านตั้งแต่ต้นปี

"Downside ของ SET ยังสามารถถูกประคับประคองได้จากสภาพคล่องภายในที่มาก และจากการแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากธนาคาร หรือปรากฏการณ์ Searching for Yields ของนักลงทุนรายย่อย จากระดับดอกเบี้ยที่อยู่ต่ำ รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกู้เอกชนและมาตรการ Uptick rule ที่ ตลท.บังคับใช้ยังช่วยลดแรง Short sales ในตลาดลงอย่างสำคัญ และเห็นได้จากนักลงทุนรายบุคคลที่มีสัดส่วนในตลาดรวมมากกว่า 50%"


ด้าน นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นเดือน ก.ค.จะเป็นไปลักษณะเทรดดิ้ง คือเมื่อดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นให้นักลงทุนขายหุ้น และเมื่อดัชนีปรับตัวลดลงก็เข้าซื้อ ซึ่งมองระดับแนวต้านสำคัญที่เหมาะต่อการขายหุ้นออกคือ 1,400 จุด ส่วนระดับแนวรับแรกที่เข้าซื้อจะอยู่ที่ 1,310 จุด

“เดือน ก.ค.จะเป็นช่วงที่ บจ.จะประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ซึ่งทางทรีนีตี้ไม่กังวลต่อกำไรของ บจ.ในไตรมาสนี้เพราะอยู่ในราคาและคาดกันอยู่แล้วว่าจะเป็นช่วงที่แย่สุด แต่กังวลกับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 มากกว่า หากออกมาไม่ดีก็จะส่งผลต่อตลาดทุนในภาพรวม”

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนรายบุคคลที่มีสัดส่วนกว่า 50% ดังนั้นการเลือกลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก หรือ sSET จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มที่มักปรับตัวได้ดีไปกับการมีส่วนร่วมของนักลงทุนกลุ่มนี้ นอกจากนั้น หุ้นในกลุ่มนี้ยังเป็นหุ้นที่เห็นแนวโน้มการเติบโตของผลกำไรที่ดีในปีหน้า และยังมี Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอีกด้วย

สำหรับกลยุทธ์ลงทุนในภาพรวม แนะนำลงทุนหุ้นเติบโต (Growth stock) ซึ่ง มี 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ BGRIM, GPSC, RATCH 2) กลุ่มเกษตรและอาหาร ได้แก่ CPF, TFG ,RBF 3) กลุ่มบริหารสินทรัพย์ เลือก JMT นอกจากนี้ยังแนะนำให้ลงทุน PTG เพราะหลังปลดล็อกเคอร์ฟิวจะทำให้การเดินทางกลับมาและจะทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึง SFLEX เพราะผลิตแพกเกจจิ้งที่อิงกับสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ยังคงจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น