xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหุ้นไทย Q3 ผันผวน หวังนโยบายรัฐ - เศรษฐกิจประเทศโตหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิเคราะห์ประสานเสียง ให้มุมมองการลงทุนหุ้นไทยและภาพเศรษฐกิจโลก ภายใต้วิกฤต COVID-19 ไตรมาส 3 คาดแนวโน้มตลาดหุ้นไทยผันผวนสูงขึ้น และเคลื่อนไหวกรอบ 1,200 - 1,450 จุด คาดเศรษฐกิจไทยใช้เวลา 2 - 3 ปี จึงฟื้นตัว ด้าน บล.เอเชีย พลัส ปรับประมาณการณ์จีดีพีปี 63 ติดลบ 8.4% มองตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3 ยังมีแรงกดดันจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้าน FETCO เผยผลสำรวจดัชนีฯ เดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ในโซน "ทรงตัว" นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายภาครัฐ ขณะที่นักลงทุนกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการไหลเข้าออกของเงินทุน

เป็นที่ทราบกันดีกว่า สภาวการณ์ทั่วโลกไม่ปกติ นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ไม่มีท่าทีจะยุติ อีกทั้งมีโรคระบาดไวรัสโควิด-19ที่ทำให้ทุกธุรกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบหนัก ยังผลให้ตลาดหุ้นทั่วทุกกระดานเข้าสู่วิกฤต ยากต่อการคาดเดาและประเมินผลที่จะเกิดขึ้น เพราะผันผวนเสียจนนักลงทุนหรือแม้แต่กูรูวงการเองยังต้องร้องเสียงหลง นี่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ลักษณะทำนองนี้เคยมีมาแล้ว เพียงแต่ที่สาหัสเพราะไวรัสตัวร้ายมาเสริมทัพ จึงทำให้กระทบอย่างยากประเมินจะยุติเมื่อใด หรือบางทีอาจปะทุอีกระลอกอย่างที่หลายฝ่ายหวาดหวั่น

อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ถือว่าไวรัสโควิด-19 ในไทยถือว่านิ่ง ๆ ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการป้องกันจากภาครัฐ แม้ระยะหลังจะปลดล็อกดาวน์ไปจนเรียกว่า อาจกลับไปใช้ชีวิตได้สะดวกใจกว่าช่วงที่ระบาดหนักเมื่อต้นปี กระนั้นก็ตาม การระมัดระวังเป็นเรื่องที่ไม่ควรเพิกเฉย ขณะที่ตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งคือการใช้จ่ายและใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอาจเหมารวมถึงชาวโลก เพื่อให้ฟันเฟืองระบบเศรษฐกิจหมุนไปได้เหมือนปกติ ดังนั้นจากสภาพการนิ่งมีความเคลื่อนไหวน้อย ก็เริ่มคึกคักขึ้นมาบ้างแล้ว หลังจากในหลายประเทศตัวเลขคนป่วยไม่ขยับเพิ่มหรือเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าแต่ก่อนหน้ามาก นั่นจึงส่งผลดีต่อภาพรวมทั้งในและต่างประเทศ ระยะนี้จึงจะเห็นการจัดงานสัมมนา เพื่อประเมินทิศทางการลงทุน และอื่นๆ เป็นระยะ ๆ

"กรุงไทย ซีมิโก้ คาดดัชนี Q3 เคลื่อนไหวกรอบ 1,200 – 1,450 จุด "

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กรุงไทย ซีมิโก้ ให้มุมมองไว้ว่า “คาดแนวโน้มตลาดหุ้นไทย 3Q20E ผันผวนสูงขึ้น และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,200 – 1,450 จุด โดยเฉพาะช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ต่างจาก 2Q20 ที่เคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นจาก 1,125 จุด ไปสูงสุดที่ 1,454 จุด เนื่องจากมีสัญญาณเตือนจากหลายปัจจัยเสี่ยง เช่น การปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจและผลกำไรบริษัทจดทะเบียน การระบาดรอบสองของ COVID-19 ที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิด W-Shape Recovery ปัญหาการค้าจีนกับสหรัฐฯ อาจตึงเครียดมากขึ้น จากนโยบายหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ เฟดเริ่มพิจารณามาตรการ Yield Curve Control เพื่อลดงบประมาณใช้จ่าย ส่วน Upside Risks จะมาจากพัฒนาการของวัคซีนรักษา COVID-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาล”

ส่วนกลยุทธ์ลงทุนได้แนะนำว่า “หากอิงจากผลสำรวจของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ ปี 1964 - 2015 พบว่าการลงทุนในหุ้นปันผลดีและหุ้นที่มีสถานะทางการเงินแข็งแกร่งจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในช่วงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น กรุงไทย ซีมิโก้ แนะนำพอร์ตลงทุน หุ้นที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งหรือมีผลกระทบน้อยจาก COVID-19 , หุ้น Dividend Play และหุ้นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะยาว”

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กรุงไทย ซีมิโก้ ให้มุมมองการลงทุนทางเทคนิคคอล โดยคาดว่า “ดัชนีจะยังคงเคลื่อนไหวอย่างผันผวน มีกรอบด้านล่างไว้ที่ 1,200 – 1,193 จุด ด้านบน 1,442 – 1,450 จุด โดยคาดว่าดัชนีถูกขับเคลื่อนจากเม็ดเงินที่ไหลเข้า-ไหลออกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี คาดว่าดัชนีจะไม่ทรุดตัวลงแรง ๆ จนสร้างจุดต่ำใหม่ เพราะสภาพคล่องในตลาดมีมาก ทำให้มองว่าการอ่อนตัวลงของดัชนี จะเป็นโอกาสทยอยสะสม ซึ่งเป็นลักษณะเหวี่ยงตัวขึ้นลงสลับไปมา”

นายภมร สุวรรณสาครกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงไทย ซีมิโก้ ได้ให้กลยุทธ์ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ไว้ว่า “ภาพรวม SET50 ฟื้นตัวจากต้นไตรมาส 2 จากระดับ 730 จุดมาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 900 จุดได้ถือเป็นการฟื้นตัวที่รวดเร็วมาก และความผันผวนถึงแม้จะลดลง แต่ความเสี่ยงของ COVID-19 ยังไม่ได้หมดไปและมีโอกาสที่ดัชนีจะแกว่งตัวรุนแรงอีกรอบ หากดัชนีหลุด 850 จุด แนะนำให้เปิดสัญญา Short เพื่อเพิ่มโอกาสในการเก็งกำไร”

“ส่วนต้นไตรมาส 3 นี้ ทาง TFEX ได้ประกาศ Stock Futures 12 ตัวใหม่ ที่จะเข้าซื้อขายในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ได้แก่ BPP ,EASTW ,JMT, M ,MBK ,OSP ,THG ,TOA ,TPIPP ,TQM ,VNT, WHAUP ซึ่งในอดีตหุ้นที่ถูกเลือกนำเข้ามาเทรดใน Stock Futures จะปรับตัวขึ้นในช่วง 1 - 2 เดือนแรก”
นายภมรกล่าว

FETCO เผยนักลงทุนมองดัชนีฯ ทรงตัว

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน หรือ FETCO ประจำเดือนกรกฎาคม 2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น 4% อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนก่อน นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสสองเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าออกของเงินทุน และนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงยังคงกังวลการระบาดรอบสองของ COVID-19

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนมิถุนายน 2563 ได้ผลสำรวจโดยสรุป คือ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน 2563) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) โดยเพิ่มขึ้น 4% มาอยู่ที่ระดับ 101.19 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ที่ 100.00 กลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลงอยู่ในระดับ “ซบเซา” ที่ 71.79

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือหมวดธนาคาร (BANK)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

“ผลสำรวจ ณ เดือนมิถุนายน 2563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และสถาบันในประเทศอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ยกเว้นกลุ่มนักลงทุนบุคคลที่ปรับตัวลงอยู่ในระดับ “ซบเซา”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 SET Index ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม โดยช่วงครึ่งเดือนแรกดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,341.99-1,438.66 จุด หลังจากได้รับแนวโน้มการผ่อนคลาย Lockdown ระยะที่สี่ รวมถึง ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว วงเงินรวม 22,400 ล้านบาท จากนั้นดัชนีปรับตัวลงเล็กน้อยหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบ 8.1% และประกาศให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศห้ามธนาคารจ่ายเงินปันผล โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 SET index ปิดที่ 1,339.03 จุด

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการไหลเข้าออกของเงินทุน อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสสองเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าออกของเงินทุน และนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงยังคงกังวลการระบาดรอบสองของ COVID-19

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ความขัดแย้งบริเวณชายแดนจีน-อินเดีย การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลกระทบของโควิดต่อเศรษฐกิจ การผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และมาตรการสนับสนุนต่างๆ ทั้งมาตรการด้านการคลัง มาตรการด้านสินเชื่อ และมาตรการด้านการเงิน

"ทรีนีตี้" มองดัชนี Q3 แกว่งตัวกรอบ 1,250-1,450 จุด

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล. ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง 2563 การลงทุนจะต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง จากมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 7 ประการที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาส 3 และ 4 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกที่อาจเริ่มชะลอลง ,การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ,การระบาดของโควิด-19 รอบสองที่อาจรุนแรงมากขึ้นซึ่งหากล็อกดาวน์รอบ 2 หลายประเทศอาจจะไม่มีกระสุนที่จะอัดฉีดนโยบายการคลังต่อ, ความผันผวนเพราะใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลอดจนผลประกอบการของ บจ.ไตรมาส 3 ที่อาจไม่ฟื้นจากไตรมาส 2 รวมทั้งการหมดอายุของมาตรการ Uptick rule ปลายเดือนกันยายน และคุณภาพสินเชื่อจะถดถอย

ช่วงไตรมาส 3 คาดดัชนี แกว่งตัว Sideways และมีกรอบกว้างมาก โดยประเมินกรอบแนวรับแรกของดัชนีที่ 1,300 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward P/E 15.7 เท่า และอิงกับประมาณการ EPS ปี 2564 ที่ 83 บาท ส่วนกรอบแนวรับประเมินที่ 1,250 จุด ขณะที่กรอบแนวต้านแรกของดัชนีที่ 1,400 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward P/E 16.8 เท่า และอิงกับประมาณการ EPS ปี 2564 ที่ 83 บาท ส่วนกรอบแนวต้านประเมินที่ 1,450 จุด

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีจะเคลื่อนไหว Sideways กรอบกว้างในไตรมาส 3 เนื่องจากอัพไซด์ยังคงถูกจำกัดจากประเด็นราคา (Valuation) เป็นสำคัญ และถึงแม้ว่าสภาพคล่องจะท่วมท้น แต่จะเห็นว่าฟันด์โฟลว์เหล่านั้น กลับเลือกที่จะไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ของไทยแทน เพราะมีอัตราผลตอบแทนแท้จริงที่น่าสนใจ

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด มองว่าตลาดหุ้นเดือน ก.ค.จะเป็นไปลักษณะเทรดดิ้งคือ เมื่อดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นให้นักลงทุนขายหุ้นและเมื่อดัชนีปรับตัวลดลงก็เข้าซื้อ ซึ่งมองระดับแนวต้านสำคัญที่เหมาะกับการขายหุ้นออกคือ 1,400 จุด ส่วนระดับแนวรับแรกที่เข้าซื้อจะอยู่ที่ 1,310 จุด

ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนในภาพรวมแนะนำลงทุนหุ้นเติบโต (Growth stock) ซึ่งมี 3 กลุ่ม คือกลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ BGRIM, GPSC, RATCH , กลุ่มเกษตรและอาหาร ได้แก่ CPF, TFG, RBF และกลุ่มบริหารสินทรัพย์ เลือก JMT

นอกจากนี้ยังแนะนำให้ลงทุน PTG เพราะหลังปลดล็อกเคอร์ฟิวจะทำให้การเดินทางกลับมาและจะทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึง SFLEX เพราะผลิตแพ็กเกจจิ้งที่อิงกับสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ยังคงจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน



นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO


กำลังโหลดความคิดเห็น