xs
xsm
sm
md
lg

“นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คนใหม่ กับภารกิจ “ปลุกม้าเหล็ก..ฝ่าวิกฤต พลิกฟื้นองค์กร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
รถไฟไทย ถึงการช่าง...ไม่ถึงก็ช่าง! วันนี้...ถึงเวลาปรับตัวครั้งใหญ่ภายใต้การนำของ “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คนใหม่ ที่วางนโยบาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ “พัฒนาคน... เพิ่มรายได้ ยกระดับองค์กร” ดึงรถไฟพ้นจากยุคไดโนเสาร์...ปรับปรุงบริการ ตอบโจทย์สังคม ปัจจุบัน ...ดึงจุดแข็ง หาพันธมิตรสร้างธุรกิจใหม่ๆ สร้างรายได้จากรถโดยสาร สินค้า และที่ดิน

“นิรุฒ มณีพันธ์” ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. วันที่ 16 เม.ย. 2563 โดยเริ่มเข้าทำงานเป็นทางการ 24 เม.ย. 2563 ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยเป็นใจ ยิ่งเพิ่มความท้าทายผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ที่เป็นคนนอกในการเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร ที่มีภารกิจสำคัญในการคมนาคมขนส่งพื้นฐานของประเทศ แถมยังมีหนี้สินสะสม ประมาณ 1.67 แสนล้านบาท มีปัญหาการบริหารงาน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

นิรุฒ มณีพันธ์ ระบุว่า ในช่วง 2 เดือนแรก ได้เดินสายตรวจพื้นที่ ขึ้นขบวนรถทำตัวเป็นผู้โดยสารคนหนึ่งเพื่อสัมผัสกับบริการที่แท้จริง ซึ่งก็ทำให้เห็นภาพว่าจะต้องทำอะไร ต้องแก้ปัญหา ต้องพัฒนารถไฟตรงไหนบ้าง

โดยสิ่งแรกที่ได้เข้าไปเริ่มทำแล้ว คือ แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของพนักงานที่มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยเริ่มจัดระเบียบบริเวณบ้านพักนิคมรถไฟ กม.11 นิคมรถไฟมักกะสัน บางซื่อ และจิตรลดา ปัญหานี้อาจมองเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน แต่เมื่อจะมีการจัดระเบียบ คนรถไฟกลับเห็นด้วยและเป็นแนวร่วม... จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี

ขณะที่การจัดระเบียบมีพื้นที่บางส่วนที่กระทบต่อประชาชนที่เข้าไปบุกรุก ซึ่งจะผ่อนปรนตามความเหมาะสม แต่จะไม่ผ่อนปรน 3 เรื่อง คือ 1. ทำให้การเดินรถไม่ปลอดภัย 2. เป็นแหล่งอาชญากรรม 3. มีสิ่งปลูกสร้าง ขวางทางน้ำ

“ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ยุคนี้ยอมไม่ได้”

โดยขณะนี้ได้แก้ปัญหาบริเวณตลาดคลองตันที่ตั้งอยู่บนรางรถไฟ เป็นอันตรายในการเดินรถอย่างมาก เพราะอยู่กลางทาง รถไฟต้องลดความเร็ว ปัญหานี้ยืดเยื้อมานาน แต่ตอนนี้จบแล้ว คิวต่อไปจะแก้ปัญหาตลาดร่มหุบ ซึ่งได้ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เพราะเป็นตลาดที่เกี่ยวข้องกับวิถีชาวบ้าน..เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ จะต้องหาวิธีสร้างสมดุล ให้คงไว้ โดยมีความปลอดภัย 100% ยืนยันไม่ยกเลิกตลาดร่มหุบ เพราะอยู่ปลายเส้นทาง การแก้ปัญหาจะต่างจากที่ตลาดคลองตัน

และจากวิสัยทัศน์ของการรถไฟฯ “เป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570” ซึ่งขณะนี้เป็นปี 2563 มีเวลาอีก 7 ปี แล้ว...จะทำได้หรือ?

ปัจจุบันรถไฟมีผู้โดยสารจำนวน 35 ล้านคน/ปี แต่เป็นบริการเชิงสังคม (PSO) ซึ่งกำหนดค่าโดยสารต่ำถึง 20 ล้านคน/ปี ส่วนผู้โดยสารเชิงพาณิชย์มีเพียง 10 ล้านคน/ปี แต่มีสัดส่วนรายได้ถึง 90%

ด้านขนส่งสินค้าจะต้องสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่ เป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ เนื่องจากสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการเดินรถทั้งโดยสารและสินค้า ซึ่งเป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าจากปัจจุบัน 11 ล้านตัน/ปี เป็น 38 ล้านตัน/ปี ในปี 2570 หรือมีสัดส่วนการขนส่งสินค้าสินค้าทางราง จาก 2% เป็น 5% ของปริมาณการขนส่งทั้งประเทศ

“ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ดีต้องมีพันธมิตร ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน ที่ผ่านมาได้หารือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย เพื่อนำจุดแข็งมารวมกันเพื่อสร้างธุรกิจ ขนส่งสินค้าร่วมกันแบบ Door To Door ภายใต้บริบทใหม่เพื่อตอบสนองสังคมปัจจุบันที่การขนส่งพัสดุกล่องมีความสำคัญอย่างมาก และมีกำไรต่อหน่วยมากกว่าการขนส่งทุกแบบ”

ดังนั้น การหารายได้ ต้องคิดใหม่...ทำใหม่ จะรอให้ผู้โดยสารเดินเข้ามาหาเหมือนเดิม ไม่ได้ ...จะรอให้คนเอาสินค้ามาส่งขึ้นรถไฟเหมือนเดิมไม่ได้... และหมดเวลาแล้ว ที่รอให้ประชาชนเดินเข้ามาขอเช่าพื้นที่รถไฟ

ในฐานะที่มีความรู้ด้านกฎหมาย และมีประสบการณ์จากธนาคาร ที่มีหน้าที่ขายทรัพย์สิน จำนวนมากที่ยึดจากลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ ซึ่งมีระบบที่ดี สามารถนำมาบริหารจัดการ ในการหาตลาดด้านขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อเพิ่มรายได้ให้การรถไฟ ฯ

โดยปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจจาก Business to Business (B2B) เป็น Businessto Business to Customer (B2B2C) วางยุทธศาสตร์เป็นผู้ขนส่งระหว่างจังหวัด (Hub to Hub) และใช้จุดแข็งการขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากถนนสู่รางให้มากขึ้น

รถไฟ มีตลาด แต่ไม่เข้มข้นและไม่ชัดเจน ดังนั้น ต้องปรับรูปแบบใหม่ๆ ที่ทันสมัยและสะดวกมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุกๆ ขั้นตอน เท่าที่จะทำได้

ปั้นที่ดิน เพิ่มศักยภาพ สร้างรายได้เพิ่ม

ร.ฟ.ท.มีที่ดินทั่วประเทศ 234,976 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่ คิดเป็น 80.68% ของที่ดินรวม, พื้นที่บ้านพัก ที่ทำการ 3,755 ไร่ คิดเป็น 1.6%, พื้นที่ย่านสถานี (วางราง) 5,333 ไร่ คิดเป็น 2.27% และพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ 36,302 ไร่ คิดเป็น 15.45% โดยมีพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ทั่วทั้งประเทศ ประมาณ 4 หมื่นกว่าไร่

“นิรุฒ มณีพันธ์” กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟมีรายได้จากการพัฒนาที่ดิน 2,000-3,000 ล้านบาท/ปีเท่านั้น จากที่ดินประมาณ 20,000 ไร่ ถือว่าน้อยมากๆ ตรงนี้ต้องดูว่า รายได้มีรั่วไหลหรือไม่

“ที่ต้องพิจารณา คือ รายได้จากสัญญาต่างๆ เหมาะสมแล้วหรือไม่ ยังมีรายได้รั่วไหลในจุดไหนบ้าง หรือผู้เช่า จ่ายต่อมากี่ทอด ค่าเช่าเข้ารถไฟ หรือไปเข้าที่ใคร เรื่องนี้ต้องบริหารจัดการ ซึ่งยอมรับว่า ต้องอาศัยความกล้ามากๆ ที่จะเข้าไปแก้ไข”

นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินที่อาจเป็นของรถไฟแต่รถไฟไม่เห็นอีก ซึ่งขณะนี้ได้มีการทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ระบบแผนที่ (GIS) และระบบสารสนเทศ (MIS ) เพื่อสำรวจ รังวัดแนวเขตที่ดินของรฟท.ทั่วประเทศ จะทำให้รู้ว่ามีที่ดินตรงไหน มีสัญญาอย่างไร และนำที่ดินนั้นมาคิด พัฒนาและหาลูกค้า

นอกจากนี้ สถานีรถไฟหลายแห่งมีขนาดใหญ่เพราะออกแบบไว้รองรับการเดินทางในอนาคต เช่น สถานีขอนแก่น, เชียงใหม่ แถมตั้งอยู่กลางเมือง ทำให้ที่ดินรอบสถานี มีศักยภาพมากด้วย หากบริหารจัดการในบริบทเดิมๆ ก็คงไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น ตรงนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่

และเท่าที่ตรวจสอบยังมีที่ดินอีกหลายแปลงที่กำลังจะหมดสัญญา อาทิ แปลงรัชดา แปลงอาร์ซีเอ จะทยอยหมดสัญญาในปี 2564-2565 เป็นแปลงเล็กแปลงน้อยแต่รวมแล้วมูลค่าค่อนข้างสูง ประเด็นที่ต้องคิดคือ ที่ดินเหล่านี้ยุคหนึ่งเคยเป็นทำเลทอง ...แต่ยุคต่อจากนี้ยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ ...

เบรกพัฒนาที่ดินแปลง A รอประเมินตลาด

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่แปลง A เป็นโครงการนำร่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในศูนย์คมนาคมพหลโยธิน มีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ หลังเปิดประมูลไม่มีเอกชนสนใจ ตอนนี้อยู่ระหว่างการทบทวนแผนการพัฒนา ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงที่ยังไม่เหมาะแก่การลงทุน เพราะตอนนี้จึงไม่ได้นำมาอยู่ในแผนเร่งด่วน คิดง่ายๆ เปิดแปลง A ตอนนี้จะหาดีมาร์ทมาจากไหน แต่หลังจากนี้การพัฒนาพื้นที่ต้องมี แต่ต้องดูความเหมาะสมอย่างละเอียดให้ชัดเจนที่สุด

รวมถึงที่ดินแปลงใหญ่กลางเมือง เช่น บางซื่อประมาณ 2,000 ไร่ ที่ดินแม่น้ำเนื้อที่ 277 ไร่ และย่านมักกะสัน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.จะมีการจัดตั้งบริษัทลูก ด้านบริหารสินทรัพย์ ซึ่งได้เสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สิน บริหารสัญญาเช่าที่ดินของ ร.ฟ.ท.ให้เกิดประสิทธิภาพ

ปรับหลักสูตร โรงเรียนวิศวกรรม ศูนย์ผลิตบุคลากรระบบรางของประเทศ

นอกจากนี้จะพัฒนายกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรรถไฟมาเป็นเวลายาวนาน โดยได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟที่มีมาตรฐานโลกเป็นวิทยาลัยวิศวกรรมรถไฟ และยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยในอนาคตแน่นอน โดยการสร้างบุคลากรไม่เฉพาะรองรับกิจการการรถไฟฯ แต่จะรองรับระบบรางทั้งหมดของประเทศ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เปรียบสถาบันการศึกษาอื่นที่มีหลักสูตรระบบราง คือ รถไฟมีห้องทดลองที่ใหญ่ที่สุด คือ การเดินรถทั่วประเทศ และมีบุคลากรที่มีความรู้ มีประสบการณ์จำนวนมากที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ สร้างคนรถไฟที่มีคุณภาพ

“ร.ร.วิศวกรรถไฟ เป็นต้นน้ำในการผลิตคนรถไฟ ที่ผ่านมา มีหลักสูตรแค่อนุปริญญา และช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีการรับนักเรียนเพราะมีการปรับหลักสูตร ผมจึงเห็นว่าเป็นโอกาสในการปรับในมิติใหม่และมีเป้าหมายที่สูงขึ้น และจะเปิดรับนักเรียนอีกครั้งในปี 2564 แน่นอน”

เดินหน้า “รถไฟทางคู่-ไฮสปีดไทย-จีน” ตามแผนเดิม

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.73 แสนล้านบาท ขระนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาทนั้น อยู่ในขั้นตอนการเตรียมประกวดราคา ซึ่งจะเดินหน้าโครงการตามแผนงาน เพราะเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ ในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า

รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท คาดว่าสัญญา 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท จะลงนามในสัญญาได้ประมาณ ต.ค.นี้ โดยขณะนี้อัยการสูงสุดอยู่ระหว่างพิจารณาร่างสัญญา

ยกระดับองค์กร เป็น Smart Organization

เป้าหมายที่จะทำคือ ยกระดับการรถไฟ เป็นองค์กรที่ชาญฉลาด (Smart Organization) ซึ่งคนต้องฉลาดมีประสิทธิภาพ, ขั้นตอนการทำงานต้องเหมาะสม บนบริบทของความเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีขั้นตอนการบริหารจัดการไม่ยุ่งยาก ไม่ซ้ำซ้อน ยกตัวอย่างระบบตั๋ว การซื้อตั๋ว การจ่ายเงิน ทุกอย่างผ่านแอปพลิเคชั่น ลดการใช้เงินสด ลดการรั่วไหล ซึ่งได้หารือกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในการพัฒนาแอปฯ เพื่อระบบการเช่าที่ดิน ที่มีผู้เช่ากว่า 10,000 ราย จ่ายเงินค่าเช่าผ่านแอป แทนพนักงานรถไฟ เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นไปทำงานอื่นๆ ได้ ซึ่งทำไม่ยากเลย และจะเกิดขึ้นแน่นอน

แผนทั้งหมดนี้ ได้นำเสนอและได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด ร.ฟ.ท.แล้ว จะเร่งนำไปสู่การปฎิบัติ

ต่อจากนี้จะเห็นการทำงานแบบใหม่ ปรับปรุงขั้นตอนการบริหารจัดการ ลดความซ้ำซ้อน และล่าช้า ภายใต้แนวคิด “ถูกเวลา ถูกต้อง ยั่งยืน”

และหลังจากนี้ รถไฟยุค New Normal “เป็นองค์กรที่ชาญฉลาด” และจะไม่เห็นภาพขององค์กรที่ล้าหลัง... ทุจริต... ไม่มีประสิทธิภาพ สกปรก อีกต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น