จับตา 4 คู่ชิงผู้ว่าการการรถไฟฯ คนใหม่ ที่จะต้องแสดงความสามารถเข้ามาบริหารทั้งเรื่องโครงการลงทุนรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่ต้องใช้งบลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท โครงการเปลี่ยนหัวรถจักรดีเซลเป็นไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูงอีก 3 เส้นทาง รวมทั้งวิธีการสร้างรายได้ให้ก้าวสู่ ร.ฟ.ท.โฉมใหม่ ปัจจุบันรถไฟฯ มีหนี้สินเกือบ 2 แสนล้านบาท ส่วนกระแสข่าวสกัดนายพีรกันต์ หนึ่งในแคนดิเดต ต้องคดีปลอมเอกสาร เป็นเรื่องที่ศาลรัชดาชี้ขาดแล้ว นายพีรกันต์ บริสุทธิ์!
การเปิดตัว "I AM SRT" โครงการค่านิยมองค์กรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อปลุกคน ร.ฟ.ท.ให้ร่วมด้วยช่วยกันนำพาองค์กรเดินหน้าสู่การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ตั้งเป้าพัฒนาองค์กรก้าวสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐ ที่ดีที่สุดในอาเซียน ในปี 2570 ได้อย่างแท้จริง
ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ คนใหม่ จะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถที่จะขับเคลื่อนเพื่อนำพาองค์กร ร.ฟ.ท.ก้าวสู่เป้าหมายได้ หลังจากว่างเว้นไม่มีผู้ว่าการการรถไฟฯ มาเป็นเวลาร่วม 2 ปี
อย่างไรก็ดี เมื่อมีประกาศรับสมัครบุคคลผู้เข้ารับการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 62 ถึงวันที่ 27 ธ.ค. 62 มีผู้ยื่นใบสมัคร 4 คน เป็นคนในการรถไฟฯ 2 คน และคนนอก 2 คน ประกอบด้วย นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการการรถไฟฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 2. นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าฯ การรถไฟฯ (กลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน) 3. นายนิรุฒ มณีพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายพัฒนาทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 4. นายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และผู้อำนวยการฝ่ายขนส่งทางอากาศของ สายการบินไทยแอร์เอเชีย
ส่วนใครจะมีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ คงต้องดูเงื่อนไขในการประกาศสรรหาที่มีกำหนดไว้ชัดเจนตามที่คณะกรรมการบริหาร ร.ฟ.ท. หรือบอร์ด ร.ฟ.ท. ได้ระบุไว้คือ จะต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนดไว้ เช่น ผ่านการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ และไม่เคยเป็นผู้ล้มละลาย เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการแสดงวิสัยทัศน์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการคัดเลือก
“คุณสมบัติที่ สคร.กำหนดไว้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และแก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 8 ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์ ก็ต้องเหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่คณะกรรมการสรรหาให้ความสำคัญไว้ 3 เรื่อง”
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า บอร์ด ร.ฟ.ท. ให้ความสำคัญกับผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการการรถไฟฯ ในประเด็นหลักๆ กล่าวคือ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งขนาดใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรางที่จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนโฉมด้านคมนาคมและขนส่งให้มีความทันสมัย สะดวก และเกิดการพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดไว้
นอกจากนี้ ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารการเงิน และเป็นผู้มีความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรให้ก้าวสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้ให้บริการระบบราง
แต่การจะก้าวสู่ความสำเร็จตามยุทธศาสตร์นั้นได้ ผู้ว่าการการรถไฟฯ คนใหม่ จะต้องเร่งจัดการปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการก้าวสู่เป้าหมาย 3 ประเด็นหลักคือ1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในเรื่องการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่มีการลงทุนในเฟส 1 ไปแล้ว 7 เส้นทาง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 จำนวน 2 เส้นทางคือ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ส่วนแล้วเสร็จในปี 2565 1 เส้นทางคือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ ที่จะเสร็จในปี 2566 จำนวน 4 เส้นทางคือ มาบกะเบา-ชุมทางจิระ, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, นครปฐม-หัวหิน และประจวบคีรีขันธ์-หัวหิน
“เส้นทางภาคใต้ก็ได้มีการเร่งประมูลเรื่องการออกแบบ จัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ ร.ฟ.ท.ก็ได้เร่งรัดดำเนินการไว้แล้ว”
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทาง คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 388,900 ล้านบาทนั้นประกอบด้วยเฟส 2 จำนวนเงิน 236,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 8 พันล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 5.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา มูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ช่วงระนอง-ชุมพร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
“จะมีส่วนที่เร่งรัดดำเนินการวงเงิน 152,900 ล้านบาท คือ รถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 6.79 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท รวมงบก่อสร้างทั้งหมดก็จะประมาณ 388,900 ล้านบาท”
อีกทั้งจะต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ที่ ร.ฟ.ท.ร่วมลงทุนกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ที่มีผลต่อการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะหากไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินล่าช้าจะมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่อีอีซีโดยตรง
“จำเป็นต้องเร่งดำเนินการไฮสปีด รถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เส้นจิระ-หนองคาย และอีก 1 เส้นคือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่ช่วงแรกจะเป็นกรุงเทพฯ-โคราช และช่วงที่ 2 จะเป็นโคราช-หนองคาย ทุกโครงการนี้มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเชื่อมต่อการค้าระหว่างประเทศ และยังมีรถไฟความเร็วสูง อาจจะเป็นสายเหนือ หรือสายใต้ อีก 1 เส้นทาง”
ขณะเดียวกันยังมีโครงการซื้อและเช่าเพื่อเปลี่ยนหัวรถจักรจากดีเซลเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อความเหมาะสมและคุ้มทุน ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
“รถไฟสายต่างๆ ที่จะวิ่งเข้าสถานีบางซื่อในอนาคต ถ้ายังเป็นดีเซลจะมีปัญหามาก เพราะสถานีบางซื่อเป็นระบบปิดจะอบอวลและเป็นอันตรายต่อระบบหายใจได้ การเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจะประหยัดกว่ารวมทั้งการซ่อมบำรุงด้วย”
จากโครงการที่กล่าวมานั้น เป็นเรื่องของการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ผู้ว่าการการรถไฟฯ คนใหม่ จะต้องมีวิชันในเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับองค์กรด้วย เพราะการขนส่งทางรางจะใช้เพียงขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงการขนส่งสินค้าในระบบรางไปพร้อมๆ กันเพราะจะสามารถสร้างรายได้ให้ ร.ฟ.ท.
“ไอซีดี ลาดกระบัง มีศักยภาพบรรจุและแยกสินค้ากล่องได้ถึง 1.3 ล้านทีอียู แต่วันนี้เพิ่งจะใช้ไปเพียง 4 แสนทีอียู จึงมีส่วนต่างอยู่ที่เกือบ 1 ล้านทีอียู ถ้าได้ผู้ว่าฯ ที่เข้าใจระบบขนส่งทางราง ก็น่าจะหาวิธีการแก้ปัญหาสร้างรายได้จากตรงนี้ได้ด้วย เพราะรัฐได้ลงทุนกับการก่อสร้างระบบรางไปมาก”
แต่การรถไฟฯ ยังมีที่ดินที่มีศักยภาพอยู่ทั่วประเทศ ก็น่าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับองค์กรเพราะปัจจุบันต้องไม่ลืมว่า ร.ฟ.ท.มีหนี้สินสะสมอยู่ถึง 167,824.15 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้มีการสรรหาผู้ว่าการการรถไฟฯ คนใหม่ ก็เพื่อที่จะให้มีผู้ว่าฯ รฟท. เข้ามาดำเนินการเร่งรัดโครงการต่างๆ เพราะเมื่อเทคโนโลยีการคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องสรรหาและกำหนดคุณสมบัติไว้ชัดเจนเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความสามารถและเข้าใจทั้งในเรื่องการก่อสร้าง การบริหารจัดการรถไฟในเทคโนโลยีใหม่ๆ การตลาดยุคใหม่ รวมทั้งการหารายได้ เพื่อนำองค์กร ร.ฟ.ท.เป็นธงนำสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ด้วย
“รัฐลงทุนสูงมากในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ซึ่งถือป็นระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดและประหยัดที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่งระบบอื่นๆ”
สำหรับผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ คนใหม่ ก็มีจุดเด่นและด้อยที่แตกต่างกันไป ว่าไปแล้วคนในทั้ง 2 คนอาจจะได้เปรียบที่รู้และเข้าใจเรื่องของรถไฟ แต่ 2 คนนอกคือ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ที่เคยเป็นระดับบริหารของการบินไทย และปัจจุบันยังเป็น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ที่ว่ากันว่ามีแรงหนุนจากคนในพรรคพลังประชารัฐ ส่งเข้าประกวด
“อย่าประมาท ดร.พีรกันต์ เคยเป็นผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์มาก่อน บริหารแอร์เอเชียดูเรื่องการตลาด การสร้างรายได้ ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการคมนาคมทางบกและทางรางของ ส.ว. และยังเป็นเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนฯ ด้วย”
ไม่เพียงเท่านั้น นายพีรกันต์ ยังจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ จาก ม.เทคโนโลยีมหานคร ปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ การเงินและการจัดการ จาก ม.เกษตรศาสตร์ รวมถึงปริญญาเอกด้านบริหารจัดการด้านการขนส่ง Logistics จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และยังเข้าอบรมหลักสูตรนักวิเคราะห์แผนเศรษฐกิจการเงิน และการวางแผนธุรกิจจากจุฬาฯ
ดังนั้นกระแสข่าวเพื่อสกัดคู่แข่งที่ว่านายพีรกันต์ อดีตซีอีโอแอร์พอร์ตลิงก์ถูกบอร์ดปลดออกจากตำแหน่งเพราะปลอมแปลงเอกสารรับรองคุณสมบัตินั้นจึงเป็นเรื่องถูกกล่าวหาทั้งสิ้น เพราะหากย้อนไปดูคำสั่งศาลอาญา รัชดา ได้ตัดสินลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เพราะได้กระทำการปลดนายพีรกันต์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำพิพากษาพิเคราะห์แล้วว่า คุณสมบัติของนายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ที่มาสมัคร CEO แอร์พอร์ตลิงก์ถูกต้องแล้ว ผ่านกระบวนการสรรหา ผ่านกรรมการแอร์พอร์ตลิงก์ และผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว
นั่นแปลว่า นายพีรกันต์ เป็นผู้บริสุทธิ์ เพียงแต่ว่าคุณสมบัติที่นายพีรกันต์มีอยู่จะตรงใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคมหรือไม่?