xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม”วางกรอบ 5.14 แสนล้าน งบปี 64 ทุ่มพัฒนารถไฟ-ขยายสนามบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ศักดิ์สยาม”จัดกรอบคำของบปี 64 วงเงินกว่า 5.14 แสนล. โดยรฟท.ขอมากสุดกว่า 9 หมื่นล. เหตุครบกำหนดจ่ายเงินกู้ และลงทุนสีแดงต่อขยาย ,ทางคู่ ขณะที่ ทย. ตั้งกรอบงบเพิ่มกว่าหมื่นล. เพื่อขยายสนามบินภูมิภาครองรับการท่องเที่ยว ย้ำทุกโครงการต้องมีความความจำเป็นและพร้อมทำ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กรอบคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของกระทรวงคมนาคมครั้งที่ 1 ว่า หน่วยงานราชการ 8 แห่งและ รัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง ได้เสนอวงเงินคำของบปี 2564 เบื้องต้น ที่ 514,535.16 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 124,105.10 ล้านบาท(24.12%) งบลงทุน 390,430.06 ล้านบาท(75.88%) โดยเป็นการลงทุนทางบกมากที่สุด ที่ 340,283.25 ล้านบาท (66.13%) ทางราง 141,121.49 ล้านบาท (27.43%) ทางอากาศ 18,859.90 ล้านบาท(3.67%) ทางน้ำ 12,597.60 ล้านบาท (2.45%) และด้านนโยบาย 1,672.92 ล้านบาท (0.33%)

สำหรับกรอบงบปี 2564 จำนวน 5.14 แสนล้านบาทนั้น ยังเป็นกรอบคำขอเบื้องต้น โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอวงเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุด 90,955.19 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2563 ที่ได้รับงบประมาณที่ 13,574.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 77,380.29 ล้านบาท เนื่องจาก มีการลงทุนโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย และรถไฟทางคู่สายใหม่ วงเงินรวมกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท ,ครบกำหนดการชำระเงินกู้วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท เงินอุดหนุนเพื่อชดเชยค่าบริการเชิงสังคม (PSO) ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

รองลงมาคือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เสนอกรอบคำขอ จำนวน 16,867 ล้านบาท จากปี 2563 ที่ได้รับงบประมาณที่ 5,665.61 ล้านบาท เนื่องจากมีโครงการปรับปรุงขยายความยาวรันเวย์ และอาคารผู้โดยสาร สนามบินภูมิภาคหลายแห่ง เช่น สนามบินตรัง นครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีเหตุผลและความจำเป็น เนื่องจากประเทศไทยมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และเดินทางโดยเครื่องบินถึง 90% โดยได้ให้ตรวจสอบว่า เป็นงานที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการทันทีเมื่อได้รับงบประมาณ

และกรมเจ้าท่า(จท.) เสนอคำขอ ปี 2564 จำนวน 12,597.60 ล้านบาท จากปี 2563 ได้รับจัดสรรงบประมาณที่ 4,370.99 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการศึกษาพัฒนาท่าเรือสงขลา 2 เชื่อมอันดามัน เป็นต้น

ซึ่งการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ของกระทรวงคมนาคม มีการพิจารณาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) และข้อมูลที่รับทราบจากการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งงานด้านคมนาคมนั้นเป็นงานที่เป็นข้อเรียกร้องและมีข้อหารือในสภาผู้แทนราษฎร กว่า 70% จากข้อหารือทั้งหมด ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

ซึ่งได้มอบให้หน่วยงานในสังกัดเสนอรายละเอียดและการปรับปรุงคำของบประมาณฯ เสนอต่อกระทรวงฯ ภายในวันที่ 14 ม.ค. เพื่อสรุปเสนอสำนักงบประมาณในวันที่ 21 ม.ค. โดยมีแนวทางการจัดทำคำของบประมาณ 4 ประเด็นหลัก คือ

1. งบด้านบุคลากร ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับ ปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ และการดำเนินงาน ซึ่งอาจทำให้สามารถลดงบประมาณค่าใช้จ่ายประจำได้

2. การจัดทำคำของบประมาณสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีกว่า 30 โครงการ จะต้องมีแนวทางการบริหารงาน 6 มิติ รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขณะดำเนินการก่อสร้าง โครงการ และส่งผลกระทบต่อประชาชน

3. ให้ทุกหน่วยงาน ตรวจสอบความพร้อมในการดำเนินโครงการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ และจัดทำ action plan โดยศึกษา ปัญหาในการดำเนินการโครงการในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นคู่มือแนวทางการดำเนินงานโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และไม่ให้กระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า

4. ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชน รับทราบข้อมูลการดำเนินงานที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทั้งก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการโครงการ

สำหรับ ปีงบประมาณ 2563 กระทรวงคมนาคมได้เสนอกรอบคำของบประมาณรายจ่าย ไปที่ 445,943.476 ล้านบาท โดยได้รับการจัดสรร จำนวน 208,315.24 ล้านบาท หรือกว่า 40% จากคำขอเท่านั้น โยแบ่งเป็นงบประจำ 37,791.64 ล้านบาท (18.14%) งบลงทุน 170,523.60 ล้านบาท(81.86%)

@ ใช้งบกลางปี 63 กว่า 800 ล้านบาท ติดระบบ VTS

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในปี 2563 กรมเจ้าท่า เสนอของบในการติดตั้งระบบการสื่อสารควบคุมจราจรทางน้ำ (VTS) ส่วนที่เหลือเพื่อติดตั้งบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนล่าง วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้รับการจัดสรร โดยได้ขอแปรญัตติคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 2563 สภาผู้แทนราษฎร ขอใช้งบลางปี 2563 ดำเนินการ เพื่อยกระดับการจัดการจราจรทางน้ำและสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว และรองรับการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ในเดือนก.พ. 2564

นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณคอขวด โดยเฉพาะช่วงที่มีการเดินทางคับคั่ง เช่น เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา และการเชื่อมต่อถนน ของ ทล.และทช. การเชื่อมต่อระหว่างถนนกับท่าเรือ ,สถานีรถไฟฟ้ากับถนนและท่าเรือ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง




กำลังโหลดความคิดเห็น