ทย.กางแผนลงทุนสนามบินนครปฐม 2.5 หมื่นล้าน ฟังเสียงเอกชนร่วมทุน PPP “ถาวร” ยันเที่ยวบินพาณิชย์ล้น ต้องเพิ่มสนามบินโซนตะวันตก กำชับเยียวยาเวนคืนประชาชนเต็มที่ คาดประมูล 64 เปิดใช้ 69
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการเปิดการสัมมนาเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการท่าอากาศยานนครปฐม ว่าปัจจุบันแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเครื่องบินส่วนตัว (Private Jet) และเช่าหมาลำกว่า 2,000 เที่ยวต่อปี ซึ่งมีการเติบโตเพิ่มขึ้น แม้ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีการขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่เพียงพอ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐมเพื่อแบ่งเบาความแออัดการจราจรทางอากาศ และรองรับการขยายตัวทางธุรกิจและท่องเที่ยว
โดยการศึกษาความต้องการใช้ท่าอากาศยานควบคู่การพิจารณาด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เบื้องตันผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ด้านตะวันตกที่บริเวณอำเภอบางเลน และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีความหมาะสมในการก่อสร้าง เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที และที่ตั้งอยู่ห่างจากโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กม. และรถไฟทางคู่
ทั้งนี้ จากการออกแบบโครงการฯ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 25,194 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าที่ดิน 3,461 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 21,733 ล้านบาท ใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 3,500 ไร่ รองรับทางวิ่งขนาด 45 × 2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 อาคาร พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถ จอดรถได้ประมาณ 4,200 คัน
ตามแผนจะสรุปการศึกษาออกแบบ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเดือน ก.พ. 2563 และนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคาดว่าจะเปิดประมูลในปี 2564 เริ่มก่อสร้างในปี 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการในปี 2569 มีอายุสัมปทาน 30 ปี สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้กว่า 30 ล้านคน และมีจำนวนเที่ยวบินเชิงธุรกิจประมาณ 11,770 เที่ยวบินในปี 2589
ส่วนกรณีประชาชนในพื้นที่คัดค้านโครงการเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเวนคืนพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่รับน้ำนั้น นายถาวรกล่าวว่า จากการศึกษาในเรื่องพื้นที่รับน้ำไม่มีปัญหา แต่ยอมรับว่าการเวนคืนพื้นที่เกษตรกรรมมีผลกระทบด้านจิตใจของประชาชนในพื้นที่ซึ่งจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่คุ้มค่าต่อผลกระทบทางจิตใจ และหาที่ทำกินให้เหมาะสม
ส่วนจะมีการขยับจุดหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่การศึกษา ทั้งนี้ กรณีที่ชาวบ้านเสนอใช้พื้นที่กำแพงแสนซึ่งเป็นของ กองทัพอากาศนั้นยังมีข้อติดขัด
สำหรับการศึกษาโครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17% มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 11% โดยรูปแบบการลงทุน PPP เบื้องต้นมีการวิเคราะห์ 3 กรณี ได้แก่ 1. รัฐลงทุนค่าที่ดิน เอกชนลงทุนค่าก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 5% มีระยะเวลาคืนทุน 18.67 ปี 2. รัฐลงทุนค่าที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นลานจอดเครื่องบิน) เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินทั้งหมด เอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 50 % ระยะเวลาคืนทุน 20.25 ปี 3. รัฐลงทุนค่าที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดเครื่องบินพาณิชย์ เอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินธุรกิจ เอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 52% ระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี โดยการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับการลงทุน ในครั้งนี้เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด