xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เดินหน้าลุย “สนามบินนครปฐม” “ถาวร” ไหวมั้ย ถาม “ขาใหญ่” ช่วยเคลียร์ม็อบยัง?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม (ภาพบน), ชาวบ้านในพื้นที่เดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มกำลัง (ภาพล่าง)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงนาทีนี้ ชัดเจนแล้วว่า นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เอาแน่กับการเดินหน้าโครงการสนามบินนครปฐม หลังจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และได้ผลออกมาว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนที่มีชาวบ้านคัดค้านไม่เอาๆ คมนาคมก็เตรียมอัดฉีดเยียวยาค่าเวนคืนเต็มที่เพื่อไปต่อให้ได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นายถาวร และ ทย. ยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน โดยเฉพาะการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอมติเห็นชอบก่อนเดินหน้าโครงการก็คงต้องเหนื่อยหน่อย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลที่นายถาวร สังกัดอยู่นั้นมีผลงานการแหกโผ หรือมักเล่นบทเหมือนเป็นฝ่ายค้านในซีกรัฐบาลอยู่บ่อยๆ พอถึงคราวต้องผลักดันโครงการใหญ่สร้างผลงานเด่นดังก็ต้องลุ้นกันว่าครม.จะเห็นชอบตามเสนอหรือไม่

และยังไม่ต้องไปไกลถึงที่ประชุมครม.ชุดใหญ่ เอาแค่ด่านแรกรัฐมนตรีเบอร์หนึ่งจากต่างพรรคที่ขบเหลี่ยมกันในที ซึ่งมีอำนาจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.จะว่าตามกันหรือไม่ ยังต้องเจรจาต้าอวยกันจะเอาด้วยไหมก่อนเลย

เพราะเท่าที่ดูแล้ว คำสั่งการของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปยัง ทย. เล็งเป้าไปที่การลงทุนพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ในภาคใต้สองแห่ง คือ สตูล กับพัทลุง ที่คาดว่าจะลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท ใช้พื้นที่แห่งละ 3,000 ไร่ มากกว่า เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย ต้องการเจาะฐานเสียงภาคใต้ ซึ่งน่าเร้าใจกว่านครปฐมที่มีตระกูลการเมืองผูกขาดมาหลายสมัย

โครงการสร้างสนามบินนครปฐม จึงต้องดูด้วยว่า นครปฐม ถิ่นใคร “ขาใหญ่” จะช่วยเคลียร์ม็อบต้านให้ยอมรับค่าชดเชยเวนคืนแบบไม่มีปัญหาได้หรือไม่ ยังต้องลุ้นกันอีกหลายยก โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อของอาณาเขตที่สร้างสนามบินรวม 3,500 ไร่ นั้นส่วนใหญ่ประมาณ 2,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ที่รู้กันดีว่าชุมชนที่นี่เข้มแข็งอันดับต้นๆ ของประเทศ แถม ส.ส.ในพื้นที่คือ น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ยังสังกัดพรรคอนาคตใหม่ อีกต่างหาก การจะสร้างความชอบธรรมและเห็นด้วยกับโครงการนี้จึงเป็นงานที่ยากไม่น้อย

จะไปได้ไกลถึงฝั่งฝันหรือไม่ อย่างไร ก็ตาม มาดูกันว่าผลศึกษาเบื้องต้นที่นายถาวร เสนเนียม เชิญชวนเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในเวทีสัมมนาเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการท่าอากาศยานนครปฐม ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการนี้เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

เบื้องต้นผลการศึกษาโครงการพบว่าพื้นที่ด้านตะวันตกที่บริเวณอำเภอบางเลน และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีความเหมาะสม เนื่องจากใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที และที่ตั้งอยู่ห่างจากโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กม. และรถไฟทางคู่

สำหรับโครงการนี้มีมูลค่าลงทุนประมาณ 25,194 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าที่ดิน 3,461 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 21,733 ล้านบาท ใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 3,500 ไร่ รองรับทางวิ่งขนาด 45 × 2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 อาคาร พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถ จอดรถได้ประมาณ 4,200 คัน

ตามแผนจะสรุปการศึกษาออกแบบ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 และเสนอ ครม. คาดว่าจะเปิดประมูลในปี 2564 เริ่มก่อสร้างในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการในปี 2569 มีอายุสัมปทาน 30 ปี สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้กว่า 30 ล้านคน และมีจำนวนเที่ยวบินเชิงธุรกิจประมาณ 11,770 เที่ยวบินในปี 2589

สำหรับการศึกษาโครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17% มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 11% โดยรูปแบบการลงทุน PPP เบื้องต้นมีการวิเคราะห์ 3 กรณี ได้แก่ 1. รัฐลงทุนค่าที่ดิน เอกชนลงทุนค่าก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 5% มีระยะเวลาคืนทุน 18.67 ปี 2.รัฐลงทุนค่าที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นลานจอดเครื่องบิน) เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินทั้งหมด เอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 50 % ระยะเวลาคืนทุน 20.25 ปี

และ 3. รัฐลงทุนค่าที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดเครื่องบินพาณิชย์ เอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินธุรกิจ เอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 52% ระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี

การผลักดันโครงการนี้ของ ทย. และกระทรวงคมนาคม ประเมินจากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเครื่องบินส่วนตัวและเช่าหมาลำกว่า 2,000 เที่ยวต่อปี แม้ว่าท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ จะขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่เพียงพอ ทย. จึงมีโครงการศึกษาความเหมาะสมจัดตั้งสนามบินนครปฐม เพื่อแบ่งเบาความแออัดการจราจรทางอากาศ และรองรับการขยายตัวทางธุรกิจและท่องเที่ยว

งานศึกษาความต้องการใช้ท่าอากาศยานนครปฐมควบคู่การพิจารณาด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรม กำหนดระยะเวลาศึกษา 450 วัน ( 27 กันยายน 2561 ถึง 20 ธันวาคม 2562) งบประมาณ 23.50 ล้านบาท โดย ทย.ว่าจ้างให้ บริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษา

ในแง่การเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน เมื่อผลศึกษาออกมาว่ามีความคุ้มค่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคงจูงใจไม่น้อย โอกาสที่จะกลายเป็นสนามบินทิ้งร้างเหมือนสนามบินในหัวเมืองภูมิภาคก็คงไม่มี แต่จุดก่อสร้างบนพื้นที่ 3,500 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่รอยต่อของ 2 อำเภอ คือ ต.บางระกำ, ต.ลำพญา อ.บางเลน และ ต.บางแก้วฟ้า, ต.บางพระ และ ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี นั้นมีประชาชนบางส่วนคัดค้านเพราะจะได้รับผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรรมและเป็นพื้นที่รับน้ำ

“.... จากการศึกษาในเรื่องพื้นที่รับน้ำไม่มีปัญหา แต่ยอมรับว่าการเวนคืนพื้นที่เกษตรกรรมมีผลกระทบด้านจิตใจของประชาชนในพื้นที่ จะต้องมีมาตรการเยียวยาที่คุ้มค่าต่อผลกระทบทางจิตใจและหาที่ทำกินให้เหมาะสม ...” นายถาวร กล่าวด้วยความมั่นใจว่าจะ “เคลียร์ม็อบ” ได้ “.... หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งชี้แจงทำความเข้าใจเพราะยังมีขั้นตอนอีกมาก ต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคม สภาพัฒน์ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หากได้รับอนุมัติจึงจะเดินหน้าโครงการได้”

ส่วนจะขยับจุดก่อสร้างตามที่ชาวบ้านเสนอให้ขยายสนามบินกำแพงแสน ซึ่งอยู่ในสังกัดของกองทัพอากาศนั้น นายถาวรบอกว่า “ยังมีข้อติดขัด”

นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ชาวบางเลนและนครชัยศรี รับทราบเรื่องโครงการสนามบินนครปฐมเป็นเลาๆ และมาชัดเจนขึ้นว่าโครงการมาแน่เมื่อมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนเมษายน นับจากนั้น ประชาชนในสองพื้นที่และใกล้เคียงเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร้องเรียนคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา ฯลฯ เพื่อให้ทบทวนโครงการใหม่

ประชาชนที่รวมกลุ่ม #savebangrakam ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เพราะจะเสียโอกาสในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ชุมชนล่มสลาย สูญเสียวิถีอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งถ้าสร้างสนามบินอาจต้องถมดินที่สูงมากและพื้นที่ใกล้เคียงต้องเป็นที่รับน้ำอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน ยังวิพากษ์วิจารณ์การสร้างสนามบินเพิ่มแห่งใหม่ที่นครปฐม ผ่านแคมเปญ #savebangrakam #nakornpathom ซึ่งเชิญชวนลงชื่อผ่าน www.change.org ด้วยว่า เหตุผลที่อ้างความจำเป็นต้องสร้างสนามบินนครปฐม เพื่อลดความแออัดการจราจรทางอากาศนั้นแท้จริงแล้วใช่หรือไม่ หากพิจารณาจากวงเงินพัฒนาสนามบิน 3 แห่ง ประกอบด้วย แผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 วงเงินลงทุนโดยประมาณ 300,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2032 หรือปี พ.ศ. 2575 รองรับโครงสร้างพื้นฐานหลัก ECC

โครงการพัฒนาท่าอากาศสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงินลงทุนโดยประมาณ 53,450 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารเพิ่ม จากเดิม 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนโดยประมาณ 37,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารเพิ่ม จากเดิม 30 ล้านคน เป็น 40 ล้านคน

เมื่อรวมวงเงินลงทุนโดยประมาณในการปรับปรุงและพัฒนาสนามบินทั้ง 3 แห่ง เพื่อลดความแออัดของทั้งการจราจรในอากาศและผู้โดยสาร คิดเป็นเงินรวม 380,000 ล้านบาท และสนามบินทั้ง 3 แห่ง สามารถรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการสนามบิน รวมกัน 160 ล้านคน จำนวนผู้โดยสารที่คาดการณ์มีจำนวนมากกว่าประชากรในประเทศไทยรวมกัน และทุกคนไม่ได้มาพร้อมๆ กันในคราวเดียว

นอกจากนั้น ยังมีงบลงทุนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 224,000 ล้านบาท ถ้าจะก่อสร้างและเปิดใช้สนามบินนครปฐมที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง จะคุ้มค่าการลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ จำนวนผู้โดยสารและประชาชนที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงที่ประมาณการใช้งานไว้จะเป็นจริงตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ หรือต้องมีงบประมาณลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินนครปฐมอีก

การหาจุดพึงพอใจสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเพื่อนำไปสู่ข้อยุติจะสร้างหรือไม่สร้างสนามบินนครปฐม ยังต้องว่ากันอีกยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น