xs
xsm
sm
md
lg

“ทล.-ทช.” งานเข้า รื้อแบบสร้างทางใหม่หมด สนองไอเดีย “ศักดิ์สยาม” หวั่นผู้ใช้ถนนอันตราย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ไอเดียกระฉูด ผุดนโยบายยกเลิกเกาะกลางถนน เปลี่ยนมาใช้แบริเออร์แปะแผ่นยางพารากันกระแทกกับถนนเส้นใหม่ใช้งบปี 2563 กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท แม้ไม่เห็นด้วยแต่ไร้เสียงค้าน เพราะทุกโครงการออกแบบเสร็จแล้วต้องรื้อกันใหม่ ชี้ข้อดี ข้อเสียของ 2 เกาะกลางแบบเดิม กับแบริเออร์ ที่มีเรื่องการโก่งตัว อาจะเกิดอันตรายในการใช้ถนนได้ ระบุแบริเออร์แปะยางพาราเคยนำมาใช้แต่ถูกยกเลิกเพราะไม่ผ่าน QC แถมราคาแพงกว่าและผู้รับเหมาส่งงวดงานไม่ทัน!

จากการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ยกเลิกสร้างเกาะกลางถนน (Road Medians) โดยเริ่มบังคับใช้ในงบประมาณปี 2563 มีผลให้ถนนทุกสายที่อยู่ในความรับผิดชอบของทั้ง 2 หน่วยงานต้องเปลี่ยนมาใช้แบริเออร์จากยางพารากันกระแทก (Rubber Buffer Barrier) มาวางกั้นเลนระหว่างถนนแทน

มีเหตุผลว่าจะช่วยลดงบประมาณก่อสร้างถนน และรักษาถนนทั่วประเทศได้ ด้วยการนำงบประมาณที่จะใช้ก่อสร้างเกาะกลางถนนไปใช้ขยายถนน 4 เลนเพิ่มได้ อีกทั้งแบริเออร์จากยางพาราจะช่วยลดอุบัติเหตุและไม่ทำให้ถนนเสียหาย และสามารถรองรับการใช้ความเร็วของรถที่ 120 กม.ต่อชั่วโมงได้ด้วย

ที่สำคัญนโยบายเปลี่ยนมาใช้แบริเออร์จากยางพารากันกระแทกของนายศักดิ์สยามนั้น จะเป็นการช่วยเกษตรกรชาวสวนยางให้ขายยางพาราได้มากขึ้น และกระทรวงคมนาคมจะเข้าไปสอนชาวบ้านเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตอีกด้วย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมจะมีการประชุมถึงแนวทางการดำเนินการตามนโยบายการเปลี่ยนจากเกาะกลางถนนเป็นแบริเออร์ยางพารากันกระแทกในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท รวมทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมบอกว่า นโยบายเปลี่ยนเกาะกลางถนนเป็นแบริเออร์นั้น ดูเหมือนว่าวิศวกรทั้ง 2 หน่วยงานไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้เพราะการมีเกาะกลางถนนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเป็นแบบเกาะยกสูงถมดิน และเกาะกลางกดเป็นร่อง โดยหลักการออกแบบให้มีเกาะกลางถนนเพื่อให้มีการแบ่งแยกทิศทาง กระแสจราจร (Divided Highway) สำหรับถนนที่มี 4 เลนขึ้นไป หรือถนนที่อยู่ในย่านชุมชน

โดยมีจุดประสงค์เพื่อแยกกระแสจราจรในทิศทางที่ต่างกันออกจากกันป้องกันการชนแบบปะทะหรือรถที่วิ่งข้ามช่องทาง และใช้เป็นพื้นที่จัดช่องจราจรเสริมสำหรับรถรอเลี้ยวหรือกลับรถ หรือให้รถที่ออกมาจากทางแยก ทางเชื่อมลดความเร็วก่อนเข้าบรรจบรถทางตรง ยังใช้เป็นที่รอของคนเดินเท้าข้ามถนนในกรณีที่มีหลายช่องจราจร และใช้เป็นพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่างๆ รวมทั้งวางสาธารณูปโภคใต้ดิน ทำฐานของทางยกระดับหรือสะพานลอยคนเดินข้าม รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่เผื่อหรือสงวนไว้สำหรับขยายช่องจราจนในอนาคต

“ถ้าทำตามนโยบายรัฐมนตรี ถนนในปีงบ 2563 ก็จะเอายางพาราไปแปะแบริเออร์ ก็คือจะใช้แผ่นยางพาราไปแปะแท่นปูนแบริเออร์ เพราะการเอาเกาะกลางออกและเอาแผ่นปูนใส่แทน เกาะกลางก็จะไม่มีแล้ว อีกหน่อยถ้าผ่านหน้าชุมชนก็จะพบคนปีนแผ่นแบริเออร์ ซึ่งมันจะเกิดอันตรายมากกว่ามีเกาะกลางให้คนใช้เป็นที่รอข้ามถนน”

แหล่งข่าวบอกว่า รมว.ศักดิ์สยาม ได้สั่งทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ว่าแบริเออร์ยางพาราจะใช้กับถนนสร้างใหม่ในปี 2563 แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการรื้อเกาะกลางถนนที่สร้างเสร็จไปแล้วหรือไม่เพื่อเปลี่ยนไปเป็นแบริเออร์ยางพารา ก็ต้องรอว่าจะสั่งการเพิ่มเติมมาอย่างไรหรือไม่? ส่วนถนนสายทางใหม่ที่มีการตั้งงบก่อสร้างปี 2563 จะมี 7 สายทางระยะทาง 1,109 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 74,900 ล้านบาท มีโครงการบูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของทางหลวงสายหลัก รวม 7 โครงการ ระยะทาง 234 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 6,325 ล้านบาท มีโครงการพัฒนาทางหลวงรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวม 8 โครงการ ระยะทาง 82 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 10,510 ล้านบาท เป็นต้น

“ปัญหาสำคัญคือถนนที่ใช้งบปี 63 ได้มีการออกแบบเสร็จไปแล้ว ก็ต้องรื้อกันทั้งหมด เพื่อมาใช้แบริเออร์ แต่รัฐมนตรีก็ยังไม่ชัดอีกว่า จะให้แบบเป็นแบริเออร์ที่มาแปะแผ่นยางทีหลัง หรือเป็นแบริเออร์พร้อมแปะยางไปเลย ทุกอย่างก็ต้องมาคำนวณค่างาน แก้แบบกันใหม่”

โดยเฉพาะลักษณะของพื้นที่ที่ใช้เป็นเกาะกลาง จะมีความกว้างมากกว่าคือประมาณ 1.20 เมตร ส่วนของฐานแบริเออร์ประมาณ 80 ซม. ก็ต้องมาขยับที่แนวถนน ก็ต้องมาทำรูปตัดกันใหม่ เพราะถนนของ ทล.และ ทช. จะมีความต่างกันว่าจะเลือกเป็นเกาะกลางแบบยก(Raised Median) หรือเกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) ขึ้นอยู่กับออกแบบทางกายภาพของพื้นที่ด้วย

ในด้านวิศวกรรมการก่อสร้างถนนที่มีเกาะกลางแบบยก เหมาะกับถนนในเมืองหรือชุมชนหรือชานเมืองหรือถนนที่รถใช้ความเร็วไม่สูง เขตทางไม่กว้าง มีการข้ามถนนมากและผิวจราจรกว้าง หากต้องใช้กับช่วงที่รถใช้ความเร็วสูงต้องติดตั้งราวกั้นอันตรายร่วมด้วย

แต่เกาะกลางแบบกดเป็นร่องมักนิยมใช้กับทางหลวงนอกเมืองที่รถใช้ความเร็วสูง เนื่องจากความกว้างของร่องและความลาดเอียงของร่องถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความปลอดภัยให้กับรถที่ใช้ความเร็วสูงในกรณีที่รถเสียหลักเข้าสู่พื้นที่เกาะกลาง และเพื่อมิให้ชนกับรถที่แล่นสวนทางมาอีกด้าน ลดปัญหาแสงไฟหน้ารถ (Antiglare) ของการจราจรของรถที่แล่นสวนทางกันในเวลากลางคืน และความลึกของร่องกลางจะช่วยในการระบายน้ำได้อย่างดี



ขณะที่กำแพงแบริเออร์จะใช้เป็นทางหลวงที่มีความกว้างเขตทางแคบ รถใช้ความเร็วสูงหรือมีอุปสรรคทางด้านข้างทางที่ไม่สามารถขยายคันทางและทิ้งลาดตามปกติได้ แต่ระบบนี้มีข้อเสียคือจะจัดช่องจราจรรอเลี้ยวที่จุดเปิดเกาะกลางหรือที่ทางแยกได้ยาก กลับรถได้ยาก คนข้ามถนนลำบาก ต้องเจาะช่องผ่านตัวราวกั้นตรงจุดที่จะเป็นทางข้าม ในบางลักษณะจะมีปัญหาระยะมองเห็น (Sight Distance) ในบริเวณโค้งราบและปัญหาแสงไฟหน้ารถที่วิ่งสวนกันเพราะเกาะกลางแคบ แต่เกาะกลางประเภทนี้จะมีการบำรุงรักษาต่ำ มีการป้องกันการชนแบบประสานงาได้ดี

“มีการหารือกันในแวดวงวิศวกรโยธา วิศวะขนส่ง ว่านโยบายนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเข้าใจคุณสมบัติของคอนกรีตเวลาโดนความร้อนมันจะโก่งตัว และเมื่อเย็นลงมันก็จะหดตัว คือแท่นแบริเออร์ก็จะมีคุณสมบัติเดียวกันกับถนนคอนกรีต แต่ยางพาราไม่ได้โก่งตัวตาม ก็จะทำให้แผ่นยางหลุดได้ง่าย จะเกิดปัญหาจราจรที่เราคาดไม่ถึงหากแผ่นยางหลุด รถเหยียบ ชนกันแน่ ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย”

อีกทั้งกรมทางหลวง และทางหลวงชนบท เคยมีโครงการที่จะนำแผ่นยางพารามาปิดทับแบริเออร์แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้ต้องยกเลิกโครงการนี้ไป เพราะปัญหาหลักคือเกษตรกรไม่สามารถผลิตแผ่นยางส่งให้กับโครงการก่อสร้างได้ทันตามกำหนด และส่วนใหญ่ไม่ผ่าน QC (Quality Control) คือตามมาตรฐานที่กำหนด และราคาของเกษตรกรแพงกว่าการสั่งจากโรงงาน

“เรื่องนี้บรรดาผู้รับเหมารู้ดี เกษตรกรไม่สามารถส่งให้ทัน ทำให้ผู้รับเหมาส่งงานเพื่อเบิกงวดงานจากหน่วยราชการที่ว่าจ้างไม่ทัน บางรายก็ต้องถูกปรับ และไม่ผ่าน QC จึงทำให้มีการยกเลิกโครงการนี้ไป แต่รัฐมนตรีศักดิ์สยามจะดึงกลับมาทำ ก็ยังไม่รู้จะไปรอดหรือเปล่า และก็มีการพูดกันว่ามีโรงงานของจีนที่ตั้งแถว EEC จะสามารถทำแผ่นยางนี้ได้ดี”

อย่างไรก็ดี แม้การติดตั้งแบริเออร์ยางพาราจะมีต้นทุนในการก่อสร้างและบำรุงรักษาที่ถูกกว่า แต่ในเรื่องของความปลอดภัยในด้านการจราจรก็ควรคำนึงเป็นเรื่องหลัก เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 หนุ่มพนักงานเคลมประกันของบริษัท วิริยะประกันภัย สาขาพัฒนาการ วัย 29 ปี ควบบิ๊กไบค์มาด้วยความเร็วสูง และรถเกิดเสียหลัก พุ่งชนแท่งแบริเออร์อย่างแรง จนหน้าไปกระแทกกับแท่นแบริเออร์ หัวขาดกระเด็นตกลงที่พงหญ้า ที่ห่างจากที่เกิดเหตุราว 5 เมตร ขณะที่ลำตัวมีแผลทั่วร่างและขนาดใหญ่ ลำไส้ไหลทะลักออกมาด้านนอก เหตุเกิดบริเวณปากซอยราษฎร์อุทิศ 54 มุ่งหน้าถนนสุวินทวงศ์ ซึ่งเป็นถนน 3 เลน มีเกาะกลางถนนเป็นแท่งแบริเออร์

ดังนั้น แบริเออร์ยางพาราอาจไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่จะใช้กับถนนสร้างใหม่ทุกเส้นทางได้แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งานของถนนสายนั้นๆ หรือไม่?!




กำลังโหลดความคิดเห็น