xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC เร่งทำ M&A คาดชัดเจนในปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พีทีที โกลบอล เคมิคอล” มองโอกาสเข้าซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจกลุ่มเคมีภัณฑ์เกรดพิเศษ (Specialty) หลังโควิด-19 พ่นพิษ คาดมีความชัดเจนภายในปีนี้ ขณะเดียวกันเร่งทบทวนโครงการขนาดใหญ่ก่อนตัดสินใจลงทุน แย้มไตรมาส 2/63 ดีกว่าไตรมาสแรก


นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องทบทวนแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว 2 ปี จึงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในต่างประเทศ เน้นธุรกิจกลุ่มเคมีภัณฑ์เกรดพิเศษ (Specialty) หรือกลุ่ม Advance Material ที่มีอนาคตที่ดี คาดว่าปีนี้จะเห็นความชัดเจนขึ้น


ขณะที่ฐานะการเงินบริษัทฯ มีความแข็งแกร่ง โดยมีการบริหารสภาพคล่องรองรับโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และชำระคืนหนี้ หลังจากที่ได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วในปีนี้ 1.5 หมื่นล้านบาท และมีวงเงินกู้จากธนาคารอีกราว 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ล่าสุดที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันนี้ (2 มิ.ย.) อนุมัติการออกหุ้นกู้วงเงิน 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 5 ปี (ปี 2563-67) เพื่อใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนด 3 พันล้านหรียญสหรัฐ และอีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อใช้ในการลงทุนในโครงการที่อนุมัติแล้ว ส่วนจะออกหุ้นกู้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 8.57 ล้านบาท หรือราว 2.78 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 5 ปีข้างหน้า

“การทบทวนแผนลงทุนต่างๆ ในช่วงนี้ บริษัทก็มีการทบทวนต่อเนื่องภายใต้ 2 มุมมอง คือ ธุรกิจภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ และธุรกิจที่เป็นทิศทางของโลกในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนสังคมผู้สูงวัย การใช้พลังงานสะอาด ถ้าธุรกิจใดยังมีทิศทางที่ดีก็ทำต่อเนื่อง แต่อย่างผลิตภัณฑ์ไหนที่ใช้รองรับในส่วนธุรกิจที่คาดว่าจะไม่เติบโตก็ชะลอออกไป เช่น ธุรกิจด้านการบิน ที่เดิมเคยพิจารณาจะลงทุนผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องชะลอออกไป ส่วนการลงทุนผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อรองรับในส่วนของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยก็ยังมีทิศทางที่ดี รวมทั้งพลาสติกชีวภาพที่ยังเดินหน้าจะลงทุน เนื่องจากความต้องการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นพลาสติกชีวภาพจะมามีบทบาท”

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 คาดว่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 1/2563 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 8.78 พันล้านบาท และรายได้จากการขาย 9.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 2 ไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงโอเลฟินส์ ทำให้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ค่อนข้างทรงตัว และสเปรดอะโรเมติกส์ดีขึ้นเล็กน้อย และธุรกิจการกลั่นก็มีค่าการกลั่น (GRM) ที่ดีขึ้น เนื่องจากในไตรมาสนี้จะไม่มีการผลิตน้ำมันอากาศยาน (JET) จากไตรมาส 1/2563 ที่มีสัดส่วนผลิตอยู่ที่ 8% ซึ่งปัจจุบันมีมาร์จิ้นต่ำตามความต้องการที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 โดยหันมาผลิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ซึ่งยังมีมาร์จิ้นที่ดี รวมทั้งผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันในไตรมาสนี้น่าจะน้อยกว่าไตรมาส 1 ที่ขาดทุนสต๊อกน้ำมัน 8.9 พันล้านบาท เหตุราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น