สภาองค์การนายจ้างส่งสัญญาณภาครัฐเร่งปรับยุทธศาสตร์ชาติและการลงทุนให้สอดรับกับโควิด-19 ที่จะทำให้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รวมถึงไทยที่จะก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 เพื่อสกัดปัญหาคนแก่แล้วยังยากจนเต็มเมือง หนุนเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ยกระดับรายได้
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุน และยุทธศาสตร์ชาติใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงปี 2564 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หรือการมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมดซึ่งจะทำให้แรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานลดต่ำลง
“เราต้องยอมรับว่าจุดแข็งในการลงทุนของไทยในอดีตที่ผ่านมาได้ลดน้อยลงและยิ่งโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกการลงทุนของภาคเอกชนก็ต้องระวังตัวมากขึ้นเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงหดตัวซึ่งในไทยเองก็เช่นกันดังนั้นจึงต้องใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่าก่อน การลงทุนใหม่จึงไม่เกิดขึ้นโดยง่ายนักเว้นบางอุตสาหกรรมเท่านั้น” นายธนิตกล่าว
ขณะเดียวกัน แรงงานไทยปัจจุบันจบระดับอุดมศึกษาที่สาขาที่จบมากว่า 60% ไม่สอดรับกับความต้องการของตลาดและแรงงานจะกำลังก้าวสู่แรงงานสูงวัยมากขึ้นดังนั้นการลงทุนที่เน้นใช้แรงงานจำนวนมากหากมาไทยย่อมเสียเปรียบเมื่อเทียบกับตลาดแรงงานของอินโดนีเซียและเวียดนามที่มีวัยทำงานจำนวนมาก การลงทุนในไทยจึงต้องมองการใช้ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาทดแทนมากขึ้นในระยะต่อไปและควบคู่กับการต้องเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานในการรองรับอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ การลงทุนไทยที่เคยได้เปรียบในแง่ของสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ขณะนี้ก็ลดต่ำลงเพราะไทยถูกตัดสิทธิ GSP ต่อเนื่องทำให้การส่งออกสินค้าไทยในลักษณะเดียวกับกับประเทศเพื่อนบ้านย่อมเสียเปรียบ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าเครื่องจักรที่หดตัวต่อเนื่อง 16 เดือนได้บ่งชี้ให้เห็นว่าเอกชนไม่กล้าลงทุนมาก่อนแล้วและเมื่อเจอโควิด-19 ก็ยิ่งซ้ำเติมมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงควรปรับยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องมองพึ่งพาตนเองให้มากขึ้นและเน้นทำอย่างไรให้สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบที่จะเกิดขึ้นเป็นคนสูงวัยที่มีรายได้สูงไม่ใช่ยากจนเช่นขณะนี้ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะลำบากและอนาคตสิ่งที่จะเป็นรากฐานสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ลงถึงเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริงคือภาคเกษตร ซึ่งรัฐต้องมุ่งพัฒนาไปสูเกษตรแปรรูปที่มองทั้งอาหาร เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกัน ในภาคการผลิตควรจะมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลไกอัตโนมัติที่เน้นคนไทยพัฒนา การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และสาธารณสุข เป็นต้น
“ที่ผ่านมาเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาก็หลายฉบับแต่เราไม่อาจประสบความสำเร็จในการยกระดับรายได้ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นฐานรากได้นั่นคือเกษตรกร เราจึงไม่หลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลางเสียที โควิด-19 ครั้งนี้ทำให้ทุกฝ่ายต้องหันมาทวนทวนเป้าหมายใหม่ซึ่งทราบว่าทางสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เองก็เตรียมทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในช่วงระยะสั้นใหม่ที่จะเน้นเกษตร ท่องเที่ยวคุณภาพและสาธารณสุข ซึ่งก็เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะก้าวไปในจุดนี้” นายธนิตกล่าว
นายธนิตยังกล่าวถึงกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากแต่สิ่งที่เอกชนต้องการคือความมีเสถียรภาพของรัฐบาลเพราะภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจถดถอยหลังผลกระทบโควิด-19 การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ