กลุ่มธุรกิจหลังคา เอสซีจี ยอมถอดโมเดลธุรกิจแบบเดิมหลังตลาดเปลี่ยนแปลง ชี้เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย บ้านใหม่สร้างน้อย ตลาดการปรับปรุงบ้านเก่า จึงเป็นเค้กก้อนโตสูงถึง 23.4 ล้านหลังคาเรือน พร้อมเสริมทัพสินค้าหลังคา ทรานสฟอร์มสู่ SCG Roof Renovation
นายฎายิน เกียรติกวานกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจหลังคา ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดวัสดุก่อสร้างว่า บริษัทได้มีการปรับพลิกเกมรบมาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อหาอนาคตใหม่ให้แก่ธุรกิจหลังคา เนื่องจากตลาดการสร้างบ้านใหม่ลดลงต่อเนื่อง แต่ตลาดการปรับปรุงบ้านเก่ามีจำนวนสูงกว่า 23.4 ล้านหลังคาเรือน จึงเป็นสัญญาณที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว เพราะเมื่อตลาดและความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป การขายเพียงหลังคาแบบเดิม จึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอีกต่อไป
"จากการที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม จึงมีบ้านใหม่สร้างน้อยลง หากคิดและทำเช่นเดิมธุรกิจอาจจะไม่เติบโต จึงต้องหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น"
ดังนั้น บริษัทฯ จึงพลิกการทำธุรกิจหลังคา ปรับจากเป็นผู้ผลิตสินค้า มาสู่การเป็นผู้ให้บริการ (Service and Solution Provider) คือ การที่เอสซีจีได้เข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจความต้องการเชิงลึก (Insight) ของลูกค้าแล้วพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการปรับปรุงบ้านเก่ามากกว่าสร้างบ้านใหม่ แต่ต้องประสบปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การไม่รู้ว่าจะหาช่างที่มีความเชี่ยวชาญ รู้จริงเรื่องปัญหาหลังคา และมั่นใจว่าจะซ่อมแซมได้ตรงจุดจากที่ใด และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับผู้บริโภค ธุรกิจหลังคา จึงมองปัญหาเหล่านี้เป็นโอกาสที่ท้าทาย จนนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจบริการซ่อมแซม-ปรับปรุงหลังคาเก่าในชื่อ SCG Roof Renovation โดยเราพบว่าผู้มาใช้บริการกว่า 70-80% กังวลปัญหาเกี่ยวกับหลังคารั่วซ้ำซาก หาช่างที่น่าเชื่อถือไม่ได้ และมีปัญหาการก่อสร้างที่ยืดเยื้อ ทำให้สูญเสียทั้งเงินและเวลามาก่อน
แนวทางการปลดล็อกปัญหาให้ลูกค้าของ “SCG Roof Renovation” จึงเป็นการตั้งเป้าหมาย 2 ข้อ ได้แก่ 1.) หาวิธีตอบโจทย์ให้ตรงความต้องการของลูกค้า และ 2.) การบริการจะต้องไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้าน
"หลังจากเปิดให้บริการใหม่มากว่า 2 ปี ธุรกิจก็เติบโตเกินกว่า 100% ซึ่งเราต้องยอมถอดโมเดลธุรกิจแบบเดิม และพัฒนากระบวนการทำงานใน 3 ด้าน ปรับทักษะของคนทำงาน จาก “ช่างเทคนิค” เป็น “ช่างบริการ” การพัฒนากระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน จากผู้ส่งมอบสินค้า มาสู่การดูแลตลอดกระบวนการ และนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อให้เข้าถึงลูกค้า ด้วยกลยุทธ์การสื่อสารหลากหลายช่องทาง (Omni-Channel) เมื่อตลาดเปลี่ยน โอกาสก็เปลี่ยน หากเรายังโฟกัสความต้องการของลูกค้าในนิยามของตลาดแบบเดิม โลกของเราก็จะแคบ เราก็จะไม่รู้ถึงความต้องการลูกค้าปลายทางจริงๆ ว่าคืออะไร และหากเราไม่ปรับตัว จะเป็นโอกาสให้อุตสาหกรรมอื่นเข้ามาแย่งชิงบทบาทข้ามธุรกิจได้ (Disruption) เราจึงต้องมีความเร็ว ปรับตัว และตื่นตัวตลอดเวลา พยายามมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ พร้อมเปลี่ยนแปลงทีมงานและกระบวนการทำงานให้เท่าทันโลก”