“พาณิชย์” เคาะจ่ายส่วนต่าง งวดที่ 30 ชดเชยรายได้ “ข้าวเปลือกเจ้า-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี” หลังราคาต่ำกว่าเพดานประกัน เหตุการบริโภคชะลอตัว ส่งออกราคาลดลง จากการถูกคู่แข่งชิงตลาด ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว สิ้นสุดโครงการแล้ว ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ราคายังสูงกว่าประกันรายได้
รายงานจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยมีมติจ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 30 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่แจ้งเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 24-31 พ.ค. 2563 จำนวน 2 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เพราะราคายังปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาประกันรายได้ โดยข้าวเปลือกเจ้าเป็นการกลับมาจ่าย 3 งวดติดต่อกัน หลังหยุดจ่ายไปเมื่องวดที่ 23-27 ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จ่าย 2 งวดติดต่อกัน หลังจากไม่ต้องจ่ายในงวดที่ 23-28 ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เนื่องจากสิ้นสุดโครงการประกันรายได้ และข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าราคาประกันรายได้
ทั้งนี้ การคำนวณราคาส่วนต่างไม่ได้มีการคำนวณราคาอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียว เพราะสิ้นสุดฤดูกาลไปแล้ว ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาอ้างอิงอยู่ที่ตันละ 14,846.09 บาท สูงกว่าราคาประกันรายได้ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 9,440.66 บาท ต่ำกว่าราคาประกันรายได้ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,493.35 บาท ต่ำกว่าราคาประกันรายได้ ทำให้เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยข้าวเปลือกเจ้า จากเงินส่วนต่างที่จะต้องจ่าย 559.34 บาท คูณจำนวน 30 ตัน จะได้รับเงินรวม 16,780.2 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 506.65 บาท คูณด้วย 25 ตัน จะได้รับเงิน 12,666.25 บาท
สาเหตุที่ต้องกลับมาจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ เพราะขณะนี้ราคาข้าวปรับตัวลดลงจากการบริโภคข้าวลดลงของคนในประเทศ หลังจากที่ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการ และไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้การบริโภคลดลง ขณะที่การส่งออก ราคาปรับตัวลดลง จากการที่เวียดนามกลับมาส่งออกข้าว และอินเดียมีสัญญาณส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อจากคู่แข่ง จึงกระทบต่อราคาในประเทศ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกันรายได้ข้าวเปลือกจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท ครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน แต่ถ้าเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของข้าวชนิดที่กำหนดไว้สูงสุด