“พาณิชย์” พิจารณาการชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ข้าว เคาะไม่จ่ายชดเชยงวดที่ 27 ทำให้ไม่จ่ายรวม 5 งวดติด หลังราคาข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกินเพดานประกันรายได้ทุกชนิด เหตุความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยมีมติไม่จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 27 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่แจ้งเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 3-9 พ.ค. 2563 เพราะราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นเกินไปกว่าราคาประกันรายได้ทุกชนิด ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายส่วนต่างในงวดนี้ซึ่งถือเป็นงวดที่ 5 ติดต่อกันที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายชดเชย นับจากงวดที่ 23 ที่ไม่จ่ายเป็นงวดแรก
โดยการคำนวณราคาส่วนต่างดังกล่าวไม่ได้มีการคำนวณราคาอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิ เพราะสิ้นสุดฤดูกาลไปแล้ว ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาอ้างอิงอยู่ที่ตันละ 15,162.25 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,247.37 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,647.54 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 17,268.12 บาท ซึ่งทุกชนิดราคาสูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกันรายได้เอาไว้ ทำให้ไม่ต้องจ่ายชดเชยรายได้
ทั้งนี้ นับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดตัวโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2562 เป็นต้นมา ได้มีการจ่ายชดเชยมาโดยตลอด จนถึงงวดที่ 22 แต่งวดที่ 23 ไม่มีการจ่ายเป็นครั้งแรก ต่อมางวดที่ 24-26 ก็ไม่ต้องจ่าย และงวดล่าสุดงวดที่ 27 ทำให้ไม่ต้องจ่ายรวมเป็น 5 งวดติดต่อกัน
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น มาจากผลผลิตข้าวเปลือกนาปรัง ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว และยังมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นจากการบริโภคในประเทศ จากการที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาจากความต้องการข้าวเพื่อส่งออก ที่หลายประเทศมีการสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น จากการที่เวียดนาม ห้ามส่งออกข้าว อินเดียระงับคำสั่งซื้อใหม่