“พาณิชย์” งดจ่ายชดเชยส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ข้าวให้เกษตรกร งวดที่ 23 หลังราคาพุ่งเกินราคาประกันรายได้ทุกชนิด เป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มโครงการ 15 ต.ค. 62 เฉพาะข้าวเปลือกเจ้าราคาทะลุตันละ 1 หมื่นบาทแล้ว หลังความต้องการพุ่งทั้งจากการบริโภคในประเทศและส่งออก “จุรินทร์” สั่งบริหารให้สมดุลท่ามกลางไวรัสโควิด-19 ระบาด
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยมีมติไม่จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 23 ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่แจ้งเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 5-11 เม.ย. 2563 เพราะราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นเกินไปกว่าราคาประกันรายได้ทุกชนิด ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายส่วนต่างในงวดนี้
การคำนวณราคาข้าวรอบนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิไม่ได้มีการคำนวณราคาอ้างอิงเพราะสิ้นสุดฤดูกาลไปแล้ว แต่ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ราคาอ้างอิงอยู่ที่ตันละ 14,935.33 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,181.71 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 11,392.65 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 17,097.69 บาท ซึ่งทุกชนิดราคาสูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกันรายได้เอาไว้
“เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มคิกออฟโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2562 เป็นต้นมา โดยข้าวที่มีการจ่ายชดเชยมาโดยตลอด ก็คือข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จ่ายมาจนถึงงวดที่ 22 แต่พองวดที่ 23 ไม่มีการจ่ายแล้ว เพราะราคาข้าวปรับตัวขึ้นเร็วมาก โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าที่เพิ่มขึ้นเกินตันละ 1 หมื่นบาท ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งที่ราคาข้าวขึ้นมาถึงขนาดนี้”
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นมาจากความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ทั้งจากการบริโภคในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาจากความต้องการข้าวเพื่อส่งออก หลังจากที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญ เช่น เวียดนาม ได้ห้ามส่งออกข้าว อินเดียระงับคำสั่งซื้อใหม่ ทำให้คำสั่งซื้อข้าววิ่งมายังไทยมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้ผู้นำเข้าเร่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาดี และให้ติดตามสถานการณ์ข้าวสารบรรจุถุงสำหรับการบริโภคให้มีเพียงพอต่อความต้องการ และดูด้านการส่งออกข้าวควบคู่ไปด้วย โดยให้บริหารจัดการให้เกิดความสมดุลที่สุด ทั้งการบริโภคและการส่งออกท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับผลการจ่ายเงินส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ รวม 23 งวด ได้จ่ายเงินชดเชยรายได้ไปแล้วประมาณ 19,368 ล้านบาท คิดเป็น 92.4% ของวงเงินประกันรายได้ทั้งหมด 20,940.84 ล้านบาท