xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟสีแดงสร้างมาราธอน 10 ปี “ศักดิ์สยาม” สบช่องล้มบริษัทลูก ปั้น “อภิโปรเจกต์” เปิด PPP จุดเปลี่ยนรถไฟไทย 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ทำให้ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี 4 เดือน ส่งผลให้การเปิดให้บริการในเดือน ม.ค. 2564 ต้องเลื่อนออกไปด้วย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งล้มแผนตั้งบริษัทลูก เดินรถสายสีแดง และเปลี่ยนเป็นรูปแบบ PPP ให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานเดินรถไฟสายสีแดงทันที เพราะเห็นว่ามีเวลาเหลือเฟือที่จะเปิดประมูล

สาเหตุที่การก่อสร้างรถไฟสายสีแดงล่าช้า ปัญหาหลักๆ เกิดจากการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ย้ายผู้บุกรุกล่าช้า การปรับแบบของสัญญาที่ 1 (สถานีกลางบางซื่อ) ส่งผลให้สัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ต้องล่าช้าตามไปด้วย เพราะต้องรอสัญญา 1 สร้างไปก่อนระดับหนึ่งจึงจะเริ่มงานได้

ที่สุดเปิดให้บริการในเดือน ม.ค. 2564 ตามแผนเดิมจึงทำไม่ได้ แนวคิดในการประมูลให้เอกชนเข้ามารับบริหารการเดินรถสายสีแดง จึงถูกขับเคลื่อนทันที

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ร.ฟ.ท.รายงานว่าการก่อสร้างงานโยธาสายสีแดง สัญญาที่ 1 (สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) ล่าช้า เนื่องจากการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ท่อน้ำมัน ส่งผลให้สัญญาที่ 3 งานวางราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ต้องล่าช้าไปด้วย โดยล่าสุดได้มีการเสนอขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 512 วัน ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ให้ไปพิจารณาเหตุผลว่าจะมีการขยายให้กี่วัน

นอกจากนี้ยังมีการขอขยายวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม (Variation Order : VO) อีกประมาณ 10,345 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นปัญหา เนื่องจากเดิมรถไฟสายสีแดงนั้นใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจป้า) แต่ล่าสุด ไจก้าปฏิเสธที่จะให้เงินกู้เพิ่มเติมในส่วนของงาน VO ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องใช้เงินกู้ภายในประเทศ ทำให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องประกวดราคางานเพิ่มเติมใหม่

“ศักดิ์สยาม” ระบุว่า ได้รายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทราบแล้วว่า แดงมีปัญหาอะไรบ้าง รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถ โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน แทนการให้ ร.ฟ.ท.จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการเอง โดยได้เสนอแนวทางในการให้เอกชนร่วมเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ทั้งการบริหารการเดินรถ สายสีแดงตลอดสาย และการก่อสร้างสายสีแดง ส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทางวงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ให้เอกชนลงทุน 100% ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณในการลงทุนก่อสร้าง 6-7 หมื่นล้านบาท และนำงบไปใช้ในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ได้เสนอแนวคิดต่อรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์แล้ว ซึ่งท่านมีแนวคิดเรื่อง PPP อยู่แล้ว และเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ลดภาระและความเสี่ยงของภาครัฐอย่างมาก” นายศักดิ์สยาม กล่าว

“โครงการยักษ์” มูลค่าลงทุนเฉียดแสนล้านบาท


ตามแนวคิด PPP สายสีแดงของ “ศักดิ์สยาม” จะมีมูลค่าเกือบแสนล้านบาท โดยเอกชนจะต้องลงทุน 5 ส่วน ประกอบด้วย 1. ก่อสร้างรถไฟสายสีแดงเข้มส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท 2. ก่อสร้างรถไฟสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม.กรอบวงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท

3. ก่อสร้างสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท 4. ก่อสร้างรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม.วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท 5. รับผิดชอบงาน VO วงเงิน 10,345 ล้านบาท

นอกจากนี้จะต้องจ่ายคืนค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้ไฟฟ้าจำนวน 130 ตู้ ที่รัฐได้ลงทุนในสัญญา 3 อีกเป็นหมื่นล้านบาท โดยมอบกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ ร.ฟ.ท.ไปศึกษารายละเอียดโดยเร็ว คาดว่าจะนำเสนอ รูปแบบ PPP ต่อ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) อนุมัติดำเนินการภายใน 1 ปี เพื่อเปิดประมูล ต่อไป

เปลี่ยน รมว.คมนาคม ล้มตั้งบริษัทลูก-ทบทวนมติ คนร.

แนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อเดินรถสายสีแดงนั้น เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเห็นชอบการเพิ่มพันธกิจให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) ที่ปัจจุบันมีพันธกิจในการบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) ให้เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและบุคลากรของ รฟฟท.ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เนื่องจาก รฟฟท.มีประสบการณ์ในการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ ARL โดยให้ปรับปรุงแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการหารายได้ และทำกำไร และให้กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และ รฟฟท.ให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานเทียบเท่าเอกชน เป็นไปตามแผนการดำเนินงานและตัวชี้วัดที่กำหนดโดยไม่เป็นภาระของภาครัฐในอนาคต

ตามแผนมีการเพิ่มพันธกิจขอบเขตงานบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 3,400 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อน รูปแบบการบริหารบริษัทลูกสายสีแดงกับ ร.ฟ.ท.จะเป็นแบบ Net Cost คือ สายสีแดงจะต้องรับความเสี่ยงในการบริหารโครงการทั้งหมดซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัว ส่วนกรอบอัตรากำลังกำหนดที่ 806 อัตรา หากไม่พอให้ใช้การจ้างแรงงานภายนอก (Outsource)

สำหรับทุนบริษัทลูกสายสีแดงใน 5 ปี ปีแรก (2564) จะจัดสรรให้ 989 ล้านบาท เป็นค่าจัดหาอะไหล่เริ่มต้นประมาณ 680 ล้านบาท และสำหรับชดเชยการขาดทุนประมาณ 300 ล้านบาท เนื่องจากการศึกษาประเมินปีแรกจะมีผู้โดยสารประมาณ 5 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ 8 หมื่นคนต่อวัน ส่วนปีต่อไปจะมีการประเมินผลประกอบการและพิจารณาจัดสรรวงเงินอีกครั้ง ซึ่งหากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น การชดเชยขาดทุนจะลดลงและสายสีแดงมีเป้าหมายที่จะต้องคุ้มทุนภายใน 5 ปี โดย ร.ฟ.ท.ขอรับจัดสรรเงินกู้ทุนดังกล่าว ส่วนบริษัทสายสีแดงรับภาระดอกเบี้ยซึ่ง ร.ฟ.ท.ประเมินว่าสายสีแดงจะมีกำไรในปีที่ 13-14


คาดแผนว่าบริษัทลูกสายสีแดงจะทำหน้าที่บริหารการเดินรถไฟสายสีแดง (Operator) และได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่ของสถานีรายทางของสายสีแดง เพื่อหารายได้เสริม ยกเว้นสถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีรังสิต โดยแผนล่าสุดช่วงแรก ร.ฟ.ท.เตรียมขออนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทฯ และจัดสรรบุคลากร 773 อัตรา ซึ่งจะโอนย้ายพนักงานจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด และพนักงานจาก ร.ฟ.ท. อีกส่วนจะเปิดรับสมัครใหม่ ขณะที่ตามมติ คนร.มีเงื่อนไขให้เวลา 5 ปี หากยังขาดทุน จะให้เอกชนมาบริหารแทน

“ร.ฟ.ท.รู้ดี ว่ายังไง สายสีแดงก็ขาดทุน ... แต่ขอเวลาพอสูจน์ตัวเอง โดยใช้บทเรียนจากแอร์พอร์ตลิงก์ และหวังว่าจะทำได้ในเวลา 5 ปี”

เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ “ศักดิ์สยาม” เป็น รมว.คมนาคม จุดเปลี่ยนเดินรถสายสีแดง

นโยบายของ รมว.คมนาคมคนใหม่ ต้องการใช้รูปแบบ PPP เดินรถสีแดง จึงมอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเปรียบเทียบ รูปแบบเดิมที่ ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกบริหารเอง ซึ่ง “ศักดิ์สยาม” เห็นว่า รูปแบบ PPP จะทำให้การบริหารโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ให้กระทบต่อพนักงาน และไม่เป็นภาระงบประมาณรัฐบาล

“กังวลว่าสายสีแดงจะเกิดปัญหาเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ซึ่งรัฐต้องอุดหนุนโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ มาตลอด ประกอบกับ ขณะนี้งบประมาณรัฐมีจำกัด หากให้เอกชนเข้ามารับบริหาร รูปแบบ PPP โดยคำนวณส่วนที่รัฐได้ลงทุนไป เช่น ค่าก่อสร้าง ระบบรถไฟฟ้า ให้เอกชนเข้ามารับดำเนินการ และแบ่งประโยชน์ให้รัฐโดยรัฐไม่ต้องลงทุนได้อย่างไร โดยย้ำให้พิจารณาในเรื่องผลตอบแทนทางการลงทุน EIRR อย่างรอบคอบ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม”

เป้าหมาย “ศักดิ์สยาม” ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่เอาบริษัทลูก...เพียงแต่รอจังหวะและเหตุผลมาสนับสนุน

แผนแม่บท สีแดง เส้นทางหลักเชื่อม “เหนือ-ใต้, ออก-ตก” ผูกสัมปทาน PPP เอกชนกินรวบ?

ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) 10 เส้นทาง ระบุว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม มีระยะทาง 114.3 กม. 36 สถานี เป็นเส้นทางหลักในแนวเหนือ-ใต้ ทอดไปตามแนวทางรถไฟเดิม เชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองด้านทิศเหนือ (พื้นที่ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา) และพื้นที่ชานเมืองด้านทิศใต้ (พื้นที่บางบอน มหาชัย) เข้าสู่ใจกลางเมือง

โดยบูรณาการการเดินทางร่วมกันกับระบบรถไฟทางไกลที่สามารถเชื่อมโยงการเดิน ทางไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โครงข่ายสนับสนุนให้เกิดการกระจายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยไปยังพื้นที่รอบนอก ตามแนวคิดผังเมือง รองรับศูนย์ราชการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ พื้นที่ชุมชนบริเวณถนนแจ้งวัฒนะและรามอินทราที่กำลังมีการเติบโตในอัตราสูง เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมือง รองรับประชาชนบริเวณรังสิต ปทุมธานี ไปยังเมืองมหาวิทยาลัยบริเวณรังสิต อยุธยา เชื่อมโยงไปยังบ้านภาชี ในอนาคตสามารถเชื่อมโยงกับสถานีขนส่งผู้โดยสารสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือแห่งใหม่อีกด้วย โครงการสามารถแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนและรถไฟในเขตเมือง ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของระบบราง และลดความล่าช้าในการเดินทางบนโครงข่ายถนนได้

โครงข่ายด้านเหนือจาก ม.ธรรมศาสตร์รังสิต จะต่อไปถึงบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 28 กม.

ด้านใต้ จากหัวลำโพงจะต่อไปถึงมหาชัย ระยะทางประมาณ 36 กม. และระยะต่อไป จะขยายไปถึงปากท่อ จ.ราชบุรี เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟทางคู่ช่วงศาลายา-ปากท่อ-ปาดังเบซาร์ (ทางรถไฟสายใต้) ซึ่งยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนแม่บทระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน หรือ M-MAP มีการศึกษาวางโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าไว้อย่างครอบคลุม สายสีแดงจะเป็นเส้นทางหลัก ดังนั้น หากด้านใต้ไม่ต่อไปมหาชัยและปากท่อ รถโดยสารและสินค้า จะต้องเชื่อมเข้าทางนครปฐม-ศาลายา-ตลิ่งชัน ซึ่งมีทางเพียง 2 คู่ รถไฟชานเมืองสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟสินค้า ต้องบริหารการเดินรถร่วมกัน (แชร์แทร็กซ์)

ดังนั้น การให้เอกชนลงทุนจะมองเส้นทางถึงธรรมศาสต์รังสิต ถึงแค่หัวลำโพง แค่ตลิ่งชัน หรือมักกะสันหรือ? กรณี ต่อขยายตามแผนแม่บท จะทำอย่างไร จะให้ ร.ฟ.ท.ทำเอง, เปิด PPP, ผูกแพกเกจรวมกับส่วนแรก ให้เอกชนรับสัมปทานไปเลยแบบอัตโนมัติ ...แบบนี้ถือว่ารัฐเอื้อเอกชนหรือไม่

ฝ่ายนโยบายต้องชี้แจง!

และหากย้อนดูบทเรียนจากโครงการโฮปเวลล์ที่ให้เอกชนลงทุนทั้งหมด เหมือนแนวคิด PPP สายสีแดงขณะนี้ แต่ในที่สุดเอกชนไปไม่รอด เหลือทิ้งซากตอม่อไว้

“ขณะที่ระบบราง เป็นระบบขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าทางถนน และยังไม่ก่อมลพิษ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แต่...รัฐกลับทุ่มงบประมาณกว่าแสนล้านบาท ไปลงทุนก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ถึง 3 สาย”

เบรกหัวทิ่ม! ประมูลสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.แจ้งว่า โครงการรถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มูลค่ารวม กว่า 2.3 หมื่นล้านบาทนั้น ได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว ล่าสุด ร.ฟ.ท.ได้จัดทำร่างทีโออาร์ และราคากลางเสร็จแล้ว เตรียมประกาศประมูล แต่ก็ต้องเบรกไว้ก่อน ...เพราะนโยบายเปลี่ยน

ต้องยอมรับว่า รถไฟสายสีแดงเจอสารพัดปัญหา เป็นโครงการที่ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานที่สุด












กำลังโหลดความคิดเห็น