“ศักดิ์สยาม” ล้มตั้งบริษัทลูกสายสีแดง ดันเปิด PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนเดินรถสีแดงตลอดสาย พ่วงก่อสร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง มูลค่ากว่า 6.7 หมื่นล้าน เสนอ “นายกฯ” ประหยัดงบรัฐไปช่วยแก้วิกฤต “โควิด-19” สั่ง ร.ฟ.ท.เร่งศึกษารายละเอียด ชง คนร.ทบทวนมติเดิม ขณะที่สั่งเบรกประมูลรถไฟสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทางไปก่อน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ว่า ขณะนี้ได้นำเสนอแนวทางการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ทั้งการบริหารการเดินรถ และการก่อสร้างสายสีแดง ส่วนต่อขยายทั้งหมด 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการให้เอกชนเข้ามาลงทุนในรูปแบบเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณในการลงทุน และสามารถนำเงินไปใช้ในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ รูปแบบ PPP เป็นคำตอบสำคัญสอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน ซึ่งได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว คาดว่าจะนำเสนอรูปแบบ PPP ต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) อนุมัติดำเนินการภายใน 1 ปี และเปิดประมูล โดยเมื่อได้ตัวผู้ลงทุน เอกชนจะต้องชำระคืนค่าระบบอาณัติสัญญาณและตัวรถไฟฟ้าสีแดงที่ภาครัฐโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงทุนไปก่อนทันทีประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะมีรูปแบบเหมือนเอกชนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องจ่ายค่าระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์คืนให้ ร.ฟ.ท.
สำหรับการเปิดเดินรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชันนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จะต้องมีการเลื่อนการเปิดให้บริการออกไปจากแผนเดือน ม.ค. 2564 ซึ่ง ร.ฟ.ท.รายงานว่าเป็นปัญหาจากการก่อสร้างงานโยธาล่าช้า โดยเฉพาะสัญญาที่ 1 (สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) จากการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ท่อน้ำมัน ส่งผลให้สัญญาที่ 3 งานระบบอาณัติสัญญาณล่าช้าไปด้วย โดยล่าสุดได้มีการเสนอขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 512 วัน ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ให้ไปพิจารณาเหตุผลว่าจะมีการขยายให้กี่วัน
นอกจากการขอขยายระยะเวลาก่อสร้างแล้ว ยังมีปัญหากรณีขอขยายวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม (Variation Order : VO) อีกประมาณ 10,345 ล้านบาท ซึ่งเดิมรถไฟสายสีแดงใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) แต่ล่าสุดไจก้าปฏิเสธที่จะให้เงินในส่วนของงาน VO ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องใช้เงินกู้ภายในประเทศ ดังนั้นจะต้องประกวดราคาใหม่ตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง โดยงานเพิ่มเติม VO นี้จะนำไปรวมกับ PPP ด้วย
“เรื่องนี้ได้นำเรียนต่อท่านนายกฯ แล้ว และก่อนหน้านี้ได้ปรึกษากับรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์แล้ว ซึ่งเรื่อง PPP เป็นแนวคิดของท่านรองนายกฯ มาตั้งแต่ต้น และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.ในการลดภาระการลงทุน สิ่งสำคัญคือ PPP รัฐจะไม่ต้องลงทุนส่วนต่อขยายเองประหยัดเงินได้ 6-7 หมื่นล้านบาท ยอมรับว่าสัญญา PPP นี้จะใหญ่มีมูลค่าสูง แต่รัฐจะร่วมทุนในสัดส่วน 60% อยู่แล้ว ร.ฟ.ท.จะมีรายได้จากโครงการด้วย ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะมีความคล่องตัวในการลงทุนรถไฟทางคู่อีกหลายเส้นทางเป็นวิธีการบริหาร และใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ได้เร่งให้ ร.ฟ.ท.ทำรายละเอียดเพื่อเสนอ คนร.ต่อไป” รมว.คมนาคมกล่าว
สำหรับงานที่จะปิด PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนจะมี 5 ส่วน ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงเข้มส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท 2. สายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา กรอบวงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท มีระยะทาง 14.8 กม. 2. สายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.เตรียมเปิดประกวดราคาก่อสร้าง ได้สั่งการให้ชะลอออกไปก่อน
4. รถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท และ 5. งาน VO วงเงิน 10,345 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด และพนักงานแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้น จะมีแนวทางในการพิจารณาปรับโอนไปปฏิบัติงานในส่วนอื่นๆ ของ ร.ฟ.ท. หรือยกระดับบริษัทไปดำเนินการงานด้านระบบรางอื่นๆ ได้ โดยให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาและนำเสนอรูปแบบต่อไป ซึ่งในอนาคตเมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่เสร็จทางรถไฟจะมีความจุเพิ่ม ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะต้องพัฒนารูปแบบการขนส่งเพื่อให้รางให้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้รางอีกด้วย