สภาองค์การนายจ้าง เผย โควิด-19 จบลง นายจ้างจะเร่งปรับตัวรับโลกเปลี่ยนสูง โดยเตรียมรัดเข็มขัดรอบด้าน รับคนกลับเข้าทำงานลดลง เปิดสมัครใจลาออกเพิ่มขึ้น มุ่งใช้เทคโนโลยีแทนคน เอสเอ็มอีจะฟื้นตัวยากขึ้น เพราะสภาพคล่องจะมีปัญหา ต้องปรับตัวรับตลาดที่การบริโภคชะลอตัว ประชาชนจากนี้จะประหยัดมากขึ้นจากบทเรียนโควิด-19
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบลง (Post Covid-19) มีแนวโน้มว่า นายจ้างจะมีนโยบายปรับตัวที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ลดต้นทุนให้สอดรับกับขนาดองค์กรที่เหมาะสม โดยหนึ่งในต้นทุนที่จะปรับ คือ แรงงาน ที่หลังจบโควิด-19 แล้วคงจะกลับมาไม่เท่าเดิม เพราะนายจ้างจะเลือกคนมากขึ้น และจะใช้นโยบายสมัครใจลาออก (เออลีรีไทร์) สูงขึ้น การมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาทำงานแทนคนเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดทั้งระบบหุ่นยนต์ ระบบออนไลน์ ฯลฯ
2. นายจ้างจะฟื้นตัวได้ยากขึ้น เพราะหลังได้รบผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนใหญ่โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จะมีปัญหาด้านสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพราะหลังโควิด-19 จบลงสถาบันการเงินต่างๆ จะเข้มงวดมากในการปล่อยสินเชื่อสูง ดังนั้น นายจ้างจะมีการปรับตัวในการตั้งทุนสำรองทางการเงินเผื่อไว้ฉุกเฉินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งเคยมีประสบการณ์จากวิกฤตต้มยำกุ้งมาบ้างแล้ว แต่รายที่ไม่สามารถรับมือได้ก็อาจต้องปิดตัวลง
3. ตลาดจะไม่เหมือนเดิม เพราะการบริโภคจะชะลอตัว เพราะประชาชนจะมีการใช้จ่ายที่ลดลง และประหยัดมากขึ้น ซึ่งไทยเองยังมีปัญหาภัยแล้งมากระทบเพิ่ม แม้รัฐบาลจะมีมาตรการอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะลดผลกระทบได้บ้าง แต่จากนี้ไปเชื่อว่าประชาชนจะใช้จ่ายประหยัดขึ้น เพื่อความไม่ประมาท ดังนั้น ภาคธุรกิจคงต้องปรับตัวรองรับกับการบริโภคที่ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศ ซึ่งจะรวมถึงการส่งออกที่ยังคงต้องอาศัยการฟื้นตัวที่คาดว่าจะเป็นเวลา 1-2 ปี
“โควิด-19 จบลงนั้นสำหรับไทยน่าจะหมายถึงการเปิดให้ทุกอย่างมาดำเนินการได้ตามปกติ แต่สำหรับภาพรวมของโลกแล้ว จนกว่าจะมีวัคซีนมาป้องกันก็น่าจะใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งระหว่างนี้ผมก็เห็นว่าทั้งภาคนายจ้างและลูกจ้างเองก็ต้องปรับตัวกันทั้งหมด โดยบทเรียนจากโควิด-19 ครั้งนี้ ผมเห็นว่าได้สอนลูกจ้างมากกว่า เพราะนายจ้างเองได้รับรู้ถึงช่วงวิกฤตมาพอสมควร ดังนั้นลูกจ้างเองจากนี้ไปเชื่อว่าการใช้สอยจะระมัดระวังมากขึ้น และจะทำให้การบริโภคในประเทศคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” นายธนิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาครัฐได้คลายมาตรการล็อกดาวน์ให้มีการกลับมาดำเนินกิจการได้ใน 6 กิจกรรมภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านตัดผม ฯลฯ แต่กิจกรรมที่กลับมาเหล่านี้จะทำให้แรงงานกลับเข้ามาสู่ระบบได้ไม่เกิน 1 ล้านคนโดยเฉพาะร้านอาหารนั้น ที่ต้องจัดที่นั่งเว้นระยะห่างให้ผู้คนเข้ามาบริโภคในร้าน ซึ่งจะทำให้รองรับคนได้จำนวนไม่มาก แรงงานที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร คงจะกลับมาได้บางส่วน เป็นต้น ทั้งนี้ มองว่า ตัวเลขจากรัฐบาลที่มีผู้เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยามีสูงถึง 16 ล้านคน ไม่รวมระบบประกันสังคมอีกกว่า 1 ล้านคน หากสถานการณ์คลี่คลายก็เชื่อว่ารัฐจะค่อยๆ ปลดล็อกทีละขั้นตอน แรงงานคงจะทยอยกลับเข้ามา แต่ก็มองว่าจะไม่ทั้งหมด เพราะธุรกิจหลายภาคส่วนต้องรอการฟื้นตัว เช่น ท่องเที่ยวและบริการ ฯลฯ
นอกจากนี้ ต่างประเทศหลายแห่งโควิด-19 ดูจะยังไม่จบง่าย ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจไทยตลอดปีนี้ ก็ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะในไตรมาสแรกพบว่าการส่งออกของไทยนั้นติดลบ 4.8% หากไม่รวมทองคำ ขณะที่จีดีพีไทยพึ่งพิงการส่งออกถึง 70% และภาคการผลิตไทยเองพึ่งตลาดส่งออกกว่า 50% ที่เหลือพึ่งตลาดในประเทศ ดังนั้น อุตสาหกรรมครึ่งปีหลังคงจะต้องติดตามใกล้ชิด เพราะอาจได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะที่ต้องพึ่งตลาดส่งออก ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวเอง มองว่า ไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัวได้ระดับหนึ่งจากการท่องเทียวภายในแต่ต่างชาติคงต้องรอต่อไปอีก
“อุตสาหกรรมส่งออกจะมีบวกไม่กี่ตัว ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทอาหาร วัสดุการแพทย์ แต่สินค้าคงทนต่างๆ จะลำบาก เพราะตลาดยังไม่ฟื้น เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ” นายธนิต กล่าว