xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” สบช่องโควิด-19 เร่งเครื่องดันไทยขึ้น 1-10 ส่งออกอาหารโลกบูม ศก.ฐานราก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” เร่งเครื่องแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูประยะที่ 1 เต็มสูบหลังโควิด-19 หนุนอุตสาหกรรมอาหารโดดเด่น ดันไทยศูนย์กลางอาหารแห่งอาเซียน และติด 1 ใน 10 ประเทศส่งออกอาหารโลกในปี 2570 วาง 4 มาตรการขับเคลื่อนกระตุ้น ศก.ฐานรากสนองนโยบาย “สมคิด” สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็น 1.42 ล้านล้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2562-70) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 28 เมษายน ว่า แผนดังกล่าวจะมุ่งเน้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกภายในปี 2570 ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ที่เป็นไปตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์อาหาร เกิดการสร้างงาน และการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น

ทั้งนี้ ตลอดแผนดังกล่าวได้วางเป้าหมายการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็น 1.42 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 7.6 ล้านราย และก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศกว่า 0.48 ล้านล้านบาท โดยแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารนับเป็นทิศทางที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายหลังจากที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี เพราะได้เล็งโอกาสให้สอดรับกับความต้องการอาหารของโลกที่จะนำไปสู่ความมั่นคงมากขึ้น

“ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รับมือโควิด-19 เป็นอย่างดี เพราะส่วนหนึ่งเรามีความมั่นคงด้านอาหาร จะเห็นว่าหลายประเทศเกิดความต้องการอาหารแต่ขาดแคลน โอกาสนี้เราจะต้องพัฒนาทำอย่างไรให้เป็นครัวโลกที่เกษตรกรจะต้องได้รับประโยชน์มากขึ้น” นายสุริยะกล่าว

สำหรับสาระสำคัญแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ประกอบด้วย 4 มาตรการได้แก่ 1. มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการตลาดเพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย โดยให้ความสำคัญต่อการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารใหม่ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และภาคเอกชนตั้งแต่ต้นน้ำ โดยยกระดับเกษตรกรให้ปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตให้ตรงความต้องการของห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

2. มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) เป็นมาตรการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย เช่น การพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร การส่งเสริมให้มี FutureFood Lab ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยายที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของผู้ประกอบการ โดยในมาตรการนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชน

3. มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New MarketingPlatform) เป็นมาตรการเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีบทบาทในตลาดโลกโดยการเชื่อมโยงการค้าสู่สากล รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารกับการท่องเที่ยว การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะ SMEs เพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ และ 4. มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) เป็นมาตรการสร้างปัจจัยเอื้อสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0
กำลังโหลดความคิดเห็น