xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ”พลิกวิกฤตโควิด-19 ดันไทยท็อปเทนส่งออกอาหารโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-"สุริยะ"สบช่องพลิกวิกฤตโควิด-19 เร่งเครื่องแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูประยะที่ 1 เต็มสูบ หลัง ครม. อนุมัติแล้ว ดันไทยศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอาเซียน และติด 1 ใน 10 ประเทศส่งออกอาหารโลกในปี 70 วาง 4 มาตรการขับเคลื่อน หวังเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็น 1.42 ล้านล้านบาท และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย “สมคิด” ด้านกรมโรงงานอุตสาหกรรมเว้นค่าธรรมเนียมโรงงาน 5.6 หมื่นแห่ง 1 ปี เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มมิ.ย.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2562-70) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายมุ่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกภายในปี 2570 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป เพราะถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลสนับสนุน หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ยานยนต์สมัยใหม่ ยุทธศาสตร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแล้ว

“แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เป็นทิศทางที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายหลังจากที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี เพราะได้เล็งโอกาสให้สอดรับกับความต้องการอาหารของโลกที่เพิ่มขึ้น และยังเป็นไปตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์อาหาร เกิดการสร้างงาน และการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น”นายสุริยะกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการตลอดแผนงานดังกล่าว ได้วางเป้าหมายการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็น 1.42 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 7.6 ล้านราย และก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศกว่า 0.48 ล้านล้านบาท

สำหรับสาระสำคัญแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ จะสร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ ตั้งแต่ภาคการเกษตร การผลิต และการตลาด และให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารแห่งอนาคต เช่น อาหารสุขภาพ 2.มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต จะยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เช่น การพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร การส่งเสริมให้มี FutureFood Lab ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหาร 3.มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจ จะสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มที่เหมาะสม และเชื่อมโยงการผลิตอาหารกับการท่องเที่ยว และ 4.มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม จะเร่งลดอุปสรรคและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0

วันเดียวกันนี้ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. ... ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็วสุดประมาณต้นเดือนมิ.ย.2563 โดยจะมีโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ที่มีอยู่ประมาณ 56,598 ราย ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ซึ่งรัฐจะเสียรายได้ประมาณ 231 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ลดภาระและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้พยุงกิจการให้มีการประกอบกิจการได้ต่อเนื่อง และเกิดผลดีต่ออุตสาหกรรมมากกว่ารายได้ที่รัฐเสียไป


กำลังโหลดความคิดเห็น