รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ทุ่มงบ 6.6 พันล้าน ตั้งเป้าระยะยาวเป็น 1 ใน 10 ผู้ส่งออกอาหารโลก
วันนี้ (28 เม.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” สินค้าเป้าหมาย เช่น ข้าวและธัญพืช ปศุสัตว์ ประมง ผักและผลไม้ อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องปรุงรส เกษตรอินทรีย์ เครื่องดื่มสุขภาพ และยังมีกลุ่มสินค้าทีจะทำตลาดได้ดีในอนาคต เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร
มาตรการในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 1) สร้างนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ สร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ให้มีนวัตกรรมอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ 2) สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมโครงการ อาทิ พัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร พัฒนาและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ฉลาด (Intelligence Packaging) 3) สร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นการเชื่อมโยงการผลิตสู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์ม ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยการเชื่อมโยงวัฒนาธรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้ากับผลิตภัณฑ์อาหารและการท่องเที่ยว และ 4) สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นการสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบ Smart Farming กำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอาหารสดพรีเมี่ยม เช่น ชั้นคุณภาพเนื้อโคขุน เนื้อสัตว์ และสัตว์น้ำปลอดสารปฏิชีวนะ และปลอดฮอร์โมน เป็นต้น
น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวจะใช้งบประมาณ ประจำปี 2563-2566 ภายใต้งบบูรณาการและงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน จำนวน 6,671 ล้านบาท และการสนับสนุนจากภาคเอกชน 2,224 ล้านบาท โดยคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารแห่งชาติเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าประสงค์ ประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตในอาเซียนในปี 2570 และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก อีกทั้งในเชิงเศรษฐกิจ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจากกลุ่มอาหารจะเติบโตขึ้นเป็น 1.42 ล้านล้านบาท รายได้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี และจะเกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ 0.48 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี