xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจขนาดใหญ่ทำไมถึงสำคัญ? นายกฯ ทำไมต้องคุยกับเจ้าสัว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปรียบง่ายๆ ธุรกิจเสมือนเรือลำเล็ก กลาง และใหญ่ ที่ขนผู้โดยสารคือพนักงานหลายล้านชีวิต แต่ในวิกฤตโควิด-19 เหมือนกระแสน้ำแห่งอุปสรรคที่พร้อมจะพัดธุรกิจทุกขนาดไหลลงไปในหุบเหวน้ำตก ที่เรียกว่า Great Depression หรือวิกฤตทางการเงิน นี่จึงเป็นสาเหตุที่รัฐต้องกู้เงินมาติดใบพัดให้ภาคธุรกิจ และที่สำคัญเครื่องยนต์ใบพัดที่รัฐมาช่วยภาคธุรกิจ ต้องมีกำลังเพียงพอที่จะทำให้เรือเล็ก กลาง ใหญ่ สวนกระแสน้ำแห่งโควิด-19 ไปได้ เพราะถ้าช่วยครึ่งๆ กลางๆ ก็ไหลตกเหวอยู่ดี เสียเงินเปล่า และถ้าช่วยแต่เรือเล็ก เรือใหญ่ตกเหวไป ก็จะกระทบภาษีที่รัฐจะนำมาพัฒนาประเทศ และคนตกงานเกิดเป็นหนี้เสีย กระทบธนาคารและเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ถึงตอนนี้จะกู้เงินใคร ดอกเบี้ยก็แพง ประเทศก็หมดเครดิต แต่ในยามนี้ ประเทศไทยมีเงินสำรองอยู่มาก มีเครดิตดี ต้องมีความกล้าในการติดเครื่องยนต์ ช่วยภาคธุรกิจให้รอด เอาให้อยู่ ไม่เสียเงินเปล่า

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจในประเทศ จนภาคเอกชนต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐเร่งออกมาตรการช่วยพยุงธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ขาดหายไป เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ต้องปลดพนักงาน เพราะวันนี้เงินได้ของรัฐบาลมาจากภาษีของธุรกิจและภาษีคนทำงาน หากรัฐบาลไม่ส่งเสริมให้ธุรกิจอยู่รอด การจ้างงานก็จะมีปัญหา ภาษีของรัฐก็จะมีปัญหา การเร่งดำเนินการจึงเท่ากับช่วยประเทศชาติให้อยู่รอดได้ ไม่ให้ฝันร้ายของต้มยำกุ้งต้องกลับมาอีกครั้ง

ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักมองถึงการให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้อยู่รอดเท่านั้น โดยละเลยธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะมองว่ามีความสามารถในการประคับประคองตนเองได้มากกว่า

แต่จากรายงานของนิกเกอิพบว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาด้านสภาพคล่องแก่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเท่านั้น ขณะนี้ยังส่งผลกระทบต่อบริษัทขนาดใหญ่อีกด้วย จึงจำเป็นที่รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องยื่นมือเข้ามาช่วยค้ำจุน เพื่อมิให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา

รัฐบาลหลายประเทศออกสารพัดมาตรการเยียวยาบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น สายการบินต้นทุนต่ำ อีซีเจ็ท ได้รับการอัดฉีดจากรัฐบาลอังกฤษเป็นเงิน 600 ล้านปอนด์

รัฐบาลเยอรมนีออกมาตรการช่วยเหลือบริษัททั้งเล็กและใหญ่ในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมมูลค่า 17.2 พันล้านยูโร

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกชุดมาตรการมูลค่าหลายร้อยล้านเยน เพื่อคุ้มครองการจ้างงานและช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้อยู่รอด รวมถึงขยายเงินอุดหนุนการจ้างงาน เพื่อช่วยให้บริษัทจ่ายเงินเดือนและชำระดอกเบี้ยได้ ไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน

ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศจัดสรรงบประมาณไม่จำกัด เพื่อซื้อคืนตราสารหนี้ที่รัฐเป็นผู้ค้ำประกัน และหลักทรัพย์ที่ได้รับกระแสเงินสดจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อพยุงตลาดทุนในประเทศ ทั้งยังมีโครงการปล่อยกู้เพื่อช่วยธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มาตรการของเฟดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยนัก จึงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างหนักที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ

เฟดมองว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือผลกระทบจากการระบาดนี้ และช่วยให้ภาวะการจ้างงานไม่มีปัญหาหนักจนคนต้องตกงานและสูญเสียรายได้มาก รวมทั้งช่วยกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทันทีที่สถานการณ์ดีขึ้น

สำหรับประเทศไทย วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะออกมาตรการใดมาช่วยพยุงธุรกิจในประเทศบ้าง แต่หากจะมีมาตรการใดออกมาก็ควรให้ครอบคลุมทุกขนาดของธุรกิจ เพราะหากวัดในแง่ของภาษีอากรรวมของประเทศ ร้อยละ 90 ถูกนำส่งโดยธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป และธุรกิจขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้สุทธิร้อยละ 75 ของยอดรายได้ภาษีนิติบุคคลทั้งประเทศ ส่วนผู้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ร้อยละ 80 ก็มาจากธุรกิจขนาดใหญ่

วันนี้ หากปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องหมดลมหายใจไปโดยลำพัง คงเห็นเค้าลางบ้างแล้วว่าจะกระทบต่ออะไรที่เหลือบ้าง หวังเพียงว่ารัฐบาลไทยจะต่อลมหายใจของธุรกิจทุกขนาดไปพร้อมกัน ไม่ตกขบวนจากรัฐบาลทั่วโลก ที่เห็นความสำคัญของการค้ำจุนธุรกิจทุกขนาดของประเทศตน ไม่เว้นว่าจะเป็นเล็ก กลาง ใหญ่ เพราะต่างเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ช่วยเติมเต็มภาพเศรษฐกิจของประเทศให้สมบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น