xs
xsm
sm
md
lg

"คลัง" พิจารณาข้อเสนอซอฟต์โลนให้สายการบินแล้ว แต่ยังต้องรอ "อุตตม" สรุปที่มาแหล่งเงินปล่อยกู้ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ผอ.สศค." เผย "คลัง" พิจารณาข้อเสนอธุรกิจการบิน ขอรัฐอัดฉีดซอฟต์โลน 2.5 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป เหตุยังต้องรอ รมว.คลังพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้สนับสนุนการปล่อยกู้อุ้มสายการบินก่อน ยืนยันยังมีงบประมาณอีกหลายส่วนที่จะใช้เยียวยาธุรกิจที่ได้ผลกระทบโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการจ้างงานระดับสูง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาจัดสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (ซอฟ์ตโลน) วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ให้แก่ธุรกิจสายการบินตามที่ได้ส่งหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีจะมีการใช้เงินงบประมาณตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท กระทรวงการคลังจำเป็นต้องพิจารณารายละเอียดของการใช้วงเงินกู้ของกระทรวงการคลังดังกล่าวว่าจะใช้เงินจากส่วนใดได้บ้าง เนื่องจากวัตถุประสงค์การใช้เงินกู้นี้ ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ที่กู้มาเพื่อจะใช้ในด้านสาธารณสุขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และวงเงินอีก 4 แสนล้านบาท จะใช้ในด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมนั้น

ส่วนมาตรการซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น นายลวรณ กล่าวว่า ยังจำเป็นต้องมีการพิจารณารายละเอียดด้วยว่า สายการบินนั้นๆ มีสินเชื่อคงค้างเดิมเกิน 500 ล้านบาทด้วยหรือไม่ โดยหากสายการบินใดมีสินเชื่อคงค้างมีสูงกว่าเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดไว้า จะไม่สามารถขอใช้ได้ตามกลไกการปล่อยซอฟต์โลนของ ธปท. แต่อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเพิ่มเติมออกดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีงบประมาณอีกหลายส่วนที่จะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง

นายลวรณ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการปล่อยซอฟต์โลนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทของธนาคารออมสินที่จะปล่อยกู้ต่อให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เพื่อให้ธนาคารต่างๆ นำไปปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอัตรา 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปีว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินได้ให้สินเชื่อไปแล้วกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท และหากรวมกับวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ที่กันไว้ให้แก่ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เช่น ธุรกิจเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตแล้ว จะจึงทำให้ซอฟต์โลนก้อนดังกล่าวไม่พอช่วยเหลือสายการบินได้ ดังนั้น การจะพิจารณาช่วยเหลือสายการบินได้อย่างไร ยังคงต้องรอนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะมีมาตรการดูแลสายการบินหรือไม่อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น