“พาณิชย์”เผยยังตามจับต่อเนื่อง ตามรวบได้อีก 3 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด พบไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายเจลล้างมือ และขายหน้ากากอนามัยแพง ส่งผลให้ยอดรวมการจับกุมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 309 รายแล้ว
นายสุพพัต อ่องแสงคุณ โฆษกกระทรวงพาณิชย์และหัวหน้าฝ่ายสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า (ศปส) เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติการกรณีสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ว่า ณ วันที่ 12 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ ในกรุงเทพฯ เพิ่ม 3 ราย พบร้านขายยา จำหน่ายเจลล้างมือแอลกอฮอล์ ขนาด 450 มล. และขนาด 300 มล. โดยไม่มีการปิดป้ายแสดงราคาขาย จำนวน 2 ราย แจ้งข้อหากระทำความผิดไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย ตามมาตรา 28 ส่วนอีก 1 ราย พบจำหน่ายหน้ากากอนามัยบรรจุซองใส จำนวน 2 ชิ้น จำหน่ายในราคาซองละ 40 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 20 บาท กระทำความผิดข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยสูงเกินราคาควบคุมและแพงเกินสมควร ตามมาตรา 25 (1) และมาตรา 29
ส่วนในต่างจังหวัดไม่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเพิ่ม ทำให้สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ มียอดรวมเพิ่มขึ้นเป็น 309 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ 154 ราย และต่างจังหวัด 155 ราย
ทั้งนี้ โทษที่ผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ข้อหาขายเกินราคาควบคุม มาตรา 25 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาไม่แจ้งต้นทุนราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต ปริมาณคงเหลือ ตามมาตรา 25 (5) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะแจ้ง มาตรา 26 ข้อหาเป็นผู้ผลิตไม่แจ้งชื่อ ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย มาตรา 28 ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และมาตรา 29 ข้อหาขายแพงเกินสมควรมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายสุพพัตกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเฝ้าติดตาม ตรวจสอบ จับกุม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังต่อไป และขอเตือนอย่ากักตุนสินค้า หรือค้ากำไรเกินควร ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะหากตรวจสอบพบ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
ส่วนผู้บริโภคพบเห็นการกักตุนหรือค้ากำไรเกินควร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และในต่างจังหวัดร้องเรียนได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด