“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม สรุปการดำเนินการของภาคการขนส่งผู้โดยสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าจะมีมาตรการ “คัดกรอง COVID-19” แบ่งเป็น 7 ขั้นตอน คือ
1. คัดกรองประชาชน ผู้ปฏิบัติงาน ผู้โดยสาร ก่อนเข้าอาคารที่พักผู้โดยสาร
2. คัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าไปในยานพาหนะ
3. คัดกรองผู้โดยสาร ผู้ปฏิบัติงาน ก่อนออกจากอาคารที่พักผู้โดยสาร
4. เมื่อพบผู้มีอาการป่วย ดำเนินการตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
5. เว้นระยะห่างในจุดจำหน่ายตั๋ว จัดที่นั่งบนยานพาหนะ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
6. แนะนำผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย และแว่นตาตลอดการเดินทาง
7. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลให้กระทรวงคมนาคมทราบทุกวัน
โดยแผนปฏิบัติการการจัดการด้านระบบขนส่งภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ของกระทรวงคมนาคม มีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
1. การเดินทางด้วยระบบขนส่งทางอากาศ
กำหนดจุดรอรับการตรวจร่างกาย และจัดทำเครื่องหมายแสดงตำแหน่งการยืนเข้าแถว บริเวณหน้าจุดตรวจค้นผู้โดยสารเปลี่ยนลำระหว่างประเทศไปภายในประเทศ (International to Domestic) และช่องทางเข้าออกเจ้าหน้าที่ (Staff) โดยให้มีระยะห่างเพียงพอ ในระยะ 1-2 เมตร
2. การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางบก
ให้มีมาตรการ Social Distance โดยให้ผู้โดยสารเว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย จัดที่นั่งพักคอยให้มีระยะห่าง 1 เมตร 1 ที่ เว้น 1 ที่
3. การเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง
จัดระยะห่างการยืน 1-2 เมตร ในจุดที่ผู้โดยสารต้องยืนต่อคิวรอใช้บริการต่างๆ ได้แก่ การจำหน่ายตั๋วหน้าเคาน์เตอร์ และบริเวณหน้าเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ และบนชานชาลา โดยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ได้เพิ่มขบวนรถเสริมให้บริการช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเพื่อลดความแออัด ภายในขบวน
4. การเดินทางด้วยระบบขนส่งทางน้ำ
การต่อคิวขึ้น-ลงเรือ เว้นระยะห่าง 2 เมตร และให้เจ้าหน้าที่เร่งระบายผู้โดยสารให้ขึ้น-ลงเรือ เพื่อไม่ให้มีการเกาะกลุ่มหรือร่างกายเบียดเสียดกันโดยไม่จำเป็น
หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้จัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารรวมถึงพนักงานในพื้นที่ส่วนกลาง และบริเวณที่มีการใช้งานร่วมกัน เช่น บริเวณทางเข้าออกสถานี ห้องออกบัตรโดยสารอีกด้วย
สำหรับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด
กรณีการเดินทางด้วยรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ให้หน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางรางจัดให้มีการตรวจคัดกรอง และปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด โดยพิจารณาอนุญาตเฉพาะบุคคลจากข้อกำหนดข้อ 8 ตาม พ.ร.ก.ฯ
กรณีการเดินทางด้วยรถโดยสารข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้ผู้ให้บริการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร โดยจะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานทางราชการหรือหน่วยงานว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นในข้อ 8 ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) และให้บันทึกข้อมูลผู้โดยสารโดยระบุชื่อ ที่อยู่ ที่พักปัจจุบันหรือภูมิลำเนา และระบุวัตถุประสงค์ในการเดินทางตามเอกสาร ต.8 ด้วย เพื่อประกอบการซื้อ/จำหน่วย ตั๋วโดยสาร
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21-26 มีนาคม 2563 ข้อมูลสถิติผู้เดินทางออกจากกรุงเทพมหานครไปต่างจังหวัดโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (ทางอากาศ ทางราง และทางถนน) พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 364,765 คน โดยวันที่ 21 มี.ค. มีจำนวน 102,314 คน วันที่ 26 มี.ค. ลดลงเหลือ 23,477 คน
หลายจังหวัดปิดเมือง “รถไฟ-บขส.” หยุดวิ่ง
จากสถานการณ์ที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด เช่น จนอาจจะคุมไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้มาตรการแรงประกาศปิดเมือง “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้ออย่างเต็มที่ ส่งผลการเดินทางไปเข้าไปยังพื้นที่นั้นๆ ทำไม่ได้
โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การปรับแผนการเดินรถในเส้นทางใต้ จากกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ปลายทางยะลา และสุไหงโก-ลก และงดเดินขบวนรถด่วนพิเศษที่ 41/42 169/170 และ 171/172 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เริ่มปรับแผนการเดินรถตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ส่วนบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้แจ้งว่า ตามที่รัฐบาลลาวและกัมพูชาได้ประกาศกำหนดมาตรการเข้าเมือง โดยปิดจุดผ่านแดน บขส.ได้หยุดการเดินรถเส้นทางระหว่างประเทศชั่วคราว ประกอบด้วย เส้นทางประเทศไทย-สปป.ลาว จำนวน 13 เส้นทาง และเส้นทางประเทศไทย-กัมพูชา 2 เส้นทาง รวม 15 เส้นทาง ตั้งแต่วันนี้ (25 มี.ค. 63) เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติ
ส่วนการเดินรถ บขส.ภายในประเทศ บขส.ประกาศงดจำหน่ายตั๋วทุกช่องทางทุกเส้นทางทั่วประเทศ อันเนื่องมาจากมาตรการ Social Distancing เว้นระยะห่างบนรถโดยสาร-สถานีขนส่งผู้โดยสาร ส่งผลให้ตั๋วโดยสารเต็มทุกเส้นทางตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 - 30 เม.ย. 63 ยกเว้นผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าไว้แล้ว
ปิด “สนามบินนราธิวาส” ชั่วคราว
กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ประกาศงดให้บริการท่าอากาศยานนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งระงับการเดินทางเข้าออกจังหวัดนราธิวาส ของบุคคลจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ในหลายอำเภอและพบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว
แอร์ไลน์ทยอยหยุดบิน
วันที่ 28 มีนาคม 2563 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แจ้งภาพรวมสายการบินที่หยุดทำการบินเป็นการชั่วคราวในเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ มี 9 สายการบิน ประกอบด้วย การบินไทย, ไทยสมายล์, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, นกแอร์, ไทยไลอ้อน, ไทยเวียตเจ็ท, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, นกสกู๊ต
ผู้ประกอบการขนส่ง ยอมเจ็บ..จบเร็ว-หวังไม่เจ๊ง
“ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โควิด-19 เป็นปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อต้องการยุติการแพร่ระบาด ดังนั้น เป็นเรื่องที่ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือ ว่าทุกคนต้องยอมเจ็บเพื่อให้จบใน 1 เดือน ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หากไม่จบ คุมการแพร่ระบาดไม่ได้ก็ต้องยอมรับกับการขยายเวลาและมาตรการเข้มข้นไปถึงขั้น “ล็อกดาวน์”
ในแง่ของภาคการคมนาคมขนส่ง ภายใต้มาตรการ Social Distancing จะทำให้การขนส่งผู้โดยสารต่อเที่ยวลดลงอย่างน้อย 50% จากปกติในขณะนี้ที่ไม่ค่อยจะมีผู้โดยสารอยู่แล้ว เท่ากับผู้โดยสารหายไปครึ่งหนึ่ง ขาดทุนแน่นอน เช่น รถโดยสารประจำทาง โดยเฉลี่ย Load Factor ที่ผู้ประกอบการจะอยู่ได้จะต้องไม่ต่ำกว่า 75%
“วันนี้มีผู้โดยสารไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ เมื่อขาดทุนหนักก็ต้องหยุดเดินรถ ถือว่าตรงกับเจตนาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต้องการให้ทุกคนหยุดการเดินทาง หยุดการเคลื่อนย้าย และอยู่กับบ้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด”
ขณะที่เมื่อรถจอดไว้เฉยๆ ไม่วิ่ง ค่าใช้จ่ายด้าน Operate หายไป แต่ยังเหลือต้นทุนคงที่ ค่าจ้างเงื่อนเดือนพนักงาน ดอกเบี้ย ฯลฯ ตรงนี้ก็อยู่ที่แต่ละรายจะหาวิธีบริหารจัดการหาทางลดให้ได้ เช่น เจรจากับพนักงานลดเงินเดือนในช่วงที่ไม่วิ่งรถ แบบนี้เพื่อประคองตัวไปก่อน
ปัญหาคือ เอกชนแต่ละรายมีทุนไม่เท่ากัน สายป่านยาวไม่เท่ากัน หากสถานการณ์จบใน 1 เดือน, 2 เดือน หรือนานสุด 3 เดือน เอกชนที่ยังพอไหว จะเริ่มกลับมาให้บริการกันใหม่
แต่! รายที่ไม่ไหว คงฟื้นไม่ไหว และนั่นคือโจทย์ใหญ่ที่ “คมนาคม” ต้องคิดไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อสถานการณ์ยุติ การเดินทางของประชาชนจะกลับมาอีกครั้ง ในขณะที่ระบบคมนาคมขนส่งมีไม่เพียงพอ ...จะทำอย่างไร?
ซึ่งรัฐมีการรถไฟฯ และ ขสมก. บขส. เป็นเครื่องมือหลัก แต่สัดส่วนระบบขนส่งที่เป็นบริการในมือของรัฐไม่ถึง 40% ที่เหลือเป็นการลงทุนของผู้ประกอบการเอกชน หากเอกชนหายไปสักครึ่งหนึ่ง...เรื่องใหญ่แน่นอน
ดังนั้น เป็นไปได้ที่รัฐจะต้องมีมาตรการออกมาเยียวยาผู้ประกอบการขนส่ง เช่น มาตรการภาษี มาตรการด้านเชื้อเพลิง เป็นต้น
สำหรับบริการคนเมืองอย่างรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันยังให้บริการตามปกติ แต่มีผู้โดยสารลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส “โควิด-19” และมาตรการ Social Distancing ...รายได้หาย แต่...ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้น
“วันนี้หากจะคุมเชื้อโควิด-19 จะต้องงดเดินทาง มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้โดยสารไม่สะดวก ต้องกรอกข้อมูล มีเอกสารรับรองว่าไม่มีเชื้อ เป็นต้น ยุ่งยากก็ทำให้ไม่เดินทาง แตกต่างจากแนวคิดการทำระบบขนส่งที่ต้องการให้ผู้โดยสารสะดวก รวดเร็วที่สุด ดังนั้นการบริหารจัดการตอนนี้ ต้องกลับเป็นอีกด้าน”
อย่างไรก็ตาม ในแง่การลงทุนโครงการต่างๆ อาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หรือไม่นั้น ต้องรอประเมินอีกสักระยะว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูจากผลกระทบโควิด-19 เท่าไหร่ หากจำเป็นการลงทุนโครงการ สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมดำเนินการปรับแผนโครงการต่างๆ
“การลงทุนโครงการก่อสร้าง มีส่วนในต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ถดถอยให้ฟื้นได้ไม่มากก็น้อย เช่น การจัดซื้อจัดจ่าย ทำให้มีการใช้จ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เกิดการจ้างงาน เป็นต้น”
วันที่ 31 มี.ค. การเดินทางของประชาชนลดลงอย่างมาก โดยมีการเดินทางด้วยรถ บขส.เพียง 2,945 คน ส่วนระบบราง ณ วันที่ 31 มี.ค. มีผู้โดยสารรวมเหลือ 346,646 คน ลดลง 72.94% ซึ่ง ศอฉ.โควิด-19 เห็นว่าการเดินทางยังต้องลดลงกว่านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
มาตรการหลังจากนี้คงจะเข้มข้นมากขึ้น และอาจถึงขั้นประกาศ “ล็อกดาวน์..กทม.” ก็เป็นไปได้