xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยอียูเพิ่มชื่อสารเคมีอันตรายและน่ากังวลสูง แนะศึกษาให้ดีป้องกันส่งออกกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศเผยอียูเพิ่มรายชื่อสารเคมีอันตรายและมีความน่ากังวลสูง เหตุอาจเป็นสารก่อมะเร็ง มีผลต่อการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนะผู้ประกอบการศึกษากฎระเบียบให้ชัดเจนเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าของไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หน่วยงานจัดการเคมีภัณฑ์ของสหภาพยุโรป European Chemicals Agency (ECHA) ได้ประกาศเพิ่มรายชื่อสารเคมีในบัญชีสารเคมีอันตรายและมีความน่ากังวลสูง (Substances of Very High Concerns : SVHCs) หรือ (Candidate list) เนื่องจากสารดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และมีผลต่อการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ (Carcinogenic, Mutagenic and Reprotoxic : CMR) สารพิษตกค้างยาวนาน (Persistent, Bioaccumulative and Toxic : PBT) และสารตกค้างระยะเวลายาวนานมากและสะสมในสิ่งมีชีวิต (Very Persistent and Very Bioaccumulative : vPvB)

โดยสารที่เพิ่มมีจำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1. สาร Diisohexyl phthalate เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ 2. สาร 2-Benzyl-2-dimethy lamino-4'-morpholinobuty rophenone เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ และมีการใช้ในผลิตภัณฑ์พลาสติก 3. สาร 2-Methyl-1-(4-methylthiophenyl)-2-morpholinopropan-1-one เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ และมีการใช้ในผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 4. สาร Perfluorobutane sulfonic acid (PFBS) และเกลือของสารนี้มีระดับความรุนแรงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ โดยเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา/สารเติมแต่ง/สารตั้งต้นในกระบวนการผลิตพลาสติก และการสังเคราะห์ทางเคมี รวมทั้งยังเป็นสารหน่วงไฟในวัสดุประเภท polycarbonate (สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์)

สำหรับผู้ผลิต ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าวข้างต้นจะต้องแจ้งต่อ ECHA ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศใน 2 กรณี คือ 1. ผู้ผลิต ผู้นำเข้าที่มีสารดังกล่าวมากกว่า 1 ตันต่อปี และ 2. สารที่ปรากฏในผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 0.1% โดยน้ำหนัก ซึ่งผู้ขายจะต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอสำหรับใช้อย่างปลอดภัยแก่ผู้บริโภคหรือหากผู้บริโภคร้องขอ เช่น ชื่อสารเคมี เป็นต้น ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ได้รับการร้องขอ

จากข้อมูลสถิติการส่งออกของไทยมีมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปยังสหภาพยุโรปในปี 2559-2561 7,741.6 13,405.7 และ 9,527.1 ล้านบาทตามลำดับ และในปี 2562 มีการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปสหภาพยุโรปมูลค่า 6,667.3 ล้านบาท ลดลง 30.01% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลข้างต้นเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://echa.europa.eu/-/four-new-substances-added-to-candidate-list ในการเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการการค้า โทร. 0-2547-5095 หรือสายด่วน 1385


กำลังโหลดความคิดเห็น