กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าส่งออกเดือน ม.ค. 63 มูลค่า 5,048.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.59% ระบุการใช้สิทธิ FTA อาเซียนแชมป์ ส่วน GSP สหรัฐฯ อันดับหนึ่ง แนะเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีการใช้สิทธิส่งออกสูงสุด ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากระบบ e-Form D ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีกับอาเซียน 10 ประเทศเพื่อเพิ่มความสะดวก
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในเดือนม.ค. 2563 มีมูลค่ารวมเท่ากับ 5,048.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.59% โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 59.91% ของการได้รับสิทธิทั้งหมด เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในปี 2562 และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นจนกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว จนกระทบต่อการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกด้วย โดยการใช้สิทธิแบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 4,596.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.64% มีสัดส่วนการใช้สิทธิอยู่ที่ 59.17% และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 451.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.37% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 68.64%
โดยตลาดที่มีการใช้สิทธิภายใต้ FTA 5 อันดับแรก อาเซียนเป็นตลาดที่มีการใช้สิทธิสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ส่วนความตกลง FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-เปรู ใช้สิทธิ 100% ไทย-ญี่ปุ่น 98.76% อาเซียน-เกาหลี 80.43% และไทย-ออสเตรเลีย 71.97% และสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์เพื่อขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส เครื่องปรับอากาศที่ใช้ติดหน้าต่าง ผนัง เพดาน หรือพื้น
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จาก 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ พบว่าตลาดสหรัฐฯ มีการใช้สิทธิสูงสุดมูลค่า 418.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.71% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 70.35% รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 19.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 20.05% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 39.98% รัสเซียและเครือรัฐมีมูลค่า 12.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.19% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 94.57% และนอร์เวย์มีมูลค่า 1.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.77% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.38%
ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ถุงมือยาง เครื่องดื่มอื่นๆ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องยนต์จักรยานยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบเกิน 800 ลบ.ซม. หม้อแปลงไฟฟ้าอื่นๆ
นายกีรติกล่าวว่า ปัจจุบันความตกลงการค้าเสรีอาเซียนเป็นความตกลงที่มีมูลค่าการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกรอบ กรมฯ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการขอออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ประกอบการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีลดหย่อน ยกเว้นภาษีนำเข้า ณ ประเทศอาเซียนปลายทาง ซึ่งสามารถลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีความสะดวกและรวดเร็วกว่าการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบ Form D ที่เป็นกระดาษ
ทั้งนี้ การเชื่อมโยงระบบ e-Form D กับประเทศสมาชิกอาเซียน ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 ได้ผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา พม่า ลาว รวมถึงฟิลิปปินส์เข้าร่วมเชื่อมโยงข้อมูล e-Form D ผ่านระบบ ASEAN Single Window ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2563 เป็นต้นมา ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถใช้ e-Form D ในการขอลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้าระหว่างกันได้ครบ 10 ประเทศ
ในปี 2562 การส่งออกภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียนมีมูลค่า 24,553.40 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีปริมาณการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามากที่สุด หรือประมาณ 340,000 ฉบับ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง เช่น น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส น้ำตาลจากอ้อย รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคลความจุกระบอกสูบ 1,500-2,500 ลบ.ซม. เป็นต้น