xs
xsm
sm
md
lg

อียูออกประกาศแก้ไขการใช้สารนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ในเครื่องสำอาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศเผยอียูออกประกาศแก้ไขการใช้สารนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ในครีมกันแดด และเครื่องสำอาง กำหนดค่าความเข้มข้นในการใช้และเงื่อนไขการใช้สารเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกกฎระเบียบ Regulation (EU) 2019/1857 ว่าด้วยการใช้สารนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide (nano) เป็นสารกันแดดในเครื่องสำอาง ลำดับที่ 27a เพื่อแก้ไขแทนที่สารไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) ลำดับที่ 27 ใน Annex VI ของกฎระเบียบ Regulation (EC) No 1223/2009 โดยสารนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์เป็นสารที่มีอนุภาคขนาดเล็กหรืออนุภาคนาโนที่มีความโปร่งใสกว่าสารไทเทเนียมไดออกไซด์ทั่วไป และสามารถสะท้อนและป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดได้ จึงนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดและเครื่องสำอาง โดยระเบียบฉบับใหม่นี้ได้มีการกำหนดค่าความเข้มข้นในการใช้และเงื่อนไขอื่นๆ ในการใช้สารนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. ค่าความเข้มข้นในการใช้ไม่เกิน 25% สำหรับขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการใช้ 2. ไม่ให้ใช้กับผู้ใช้ที่มีความเสี่ยงที่อาจสูดดมเข้าสู่ปอดได้ และวัสดุนาโนที่อนุญาตให้ใช้ต้องมีคุณสมบัติ เช่น ความบริสุทธิ์ ≥ 99% มีโครงสร้างผลึกอยู่ในรูปแบบของรูไทล์ (Rutile) หรือรูไทล์ที่มีรูปแบบอะนาเทส (Anatase) รวมอยู่ไม่เกิน 5% และมีลักษณะทางกายภาพเป็นกลุ่มรูปทรงกลม (spherical) รูปเข็ม (needle) หรือเรียวแหลม (lanceolate) ค่ากระจายของอนุภาคมัธยฐาน ≥ 30 นาโนเมตร อัตราส่วนความยาวต่อความกว้างของอนุภาค (Aspect ratio) อยู่ในช่วงตั้งแต่ 1 ถึง 4.5 และมีพื้นที่ผิวจำเพาะของอนุภาค (Volume specific surface area) ไม่เกิน 460 ตารางเมตรต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ความเข้มข้นสูงสุดของ Silica ไม่เกิน 16% และความเข้มข้นสูงสุดของ Cetyl Phosphate ไม่เกิน 6% ความเข้มข้นสูงสุดของ Alumina ไม่เกิน 3% และความเข้มข้นสูงสุดของ Triethoxycaprylylsilane ไม่เกิน 9% เป็นต้น 3. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใช้สำหรับผิวหน้าที่มีส่วนผสมของนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ เคลือบด้วยการผสมของสาร Alumina และ Manganese Dioxide ต้องแสดงคำเตือนในการใช้ว่า “ไม่ควรใช้กับริมฝีปาก”

“จากข้อมูลสถิติการส่งออกไทยมีการส่งออกเครื่องสำอางไปยังสหภาพยุโรปในปี 2559-2561 มูลค่า 5,156.6 4,688.3 และ 5,195.1 ล้านบาทตามลำดับ และในปี 2562 มีการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปสหภาพยุโรป มูลค่า 5,853.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.66% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรตระหนักถึงกฎระเบียบข้างต้นเพื่อเตรียมตัวรองรับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวของ EU ไม่ให้กระทบต่อการส่งออกของไทย” นายกีรติกล่าว

ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32019R1857&from=EN ในการเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการทางการค้า โทร. 0-2547-5095 หรือสายด่วน 1385


กำลังโหลดความคิดเห็น