xs
xsm
sm
md
lg

กรมศุลฯโบ้ยพาณิชย์อนุมัติเอง…ส่งออกแมสก์ลอตใหญ่-จับ”ลาซาดา”3คดีขายเกินราคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360- กรมศุลกากร โยนถามพาณิชย์เคาะใบอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยให้รายใหญ่ไม่กี่เจ้า ไปประเทศจีน ฮ่องกง สหรัฐฯ เผยยอดส่งออกหน้ากากอนามัยรวม 2 เดือน 330 ตัน มูลค่า 160 ล้านบาท พร้อมจ่อเอาผิดเพจอ้างกรมศุลฯ กักหน้ากากนำเข้า 5 ล้านตัน ก่อนแจงเพิ่มเติมเป็นยอดรวมพิกัดสินค้าอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะหน้ากากอนามัยอย่างเดียว กรมการค้าภายใน เตรียมแจ้งความเอาผิดผู้ให้ข้อมูลผิดพลาดสร้างความเสียหาย ขณะที่ "พาณิชย์"จัดหนัก จับ“ลาซาด้า”รวดเดียว 3 คดี ขายหน้ากากอนามัยเกินราคาควบคุมและค้ากำไรเกินควร ด้าน อย.เปิดระบบ FastTrack ให้ผู้ประกอบการผลิต-นำเข้าหน้ากากอนามัย หวังเพิ่มจำนวนหน้ากากอนามัยในประเทศ

วานนี้ (11 มี.ค.) นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 150 ตัน และเดือน ก.พ. 2563 อยู่ที่ 180 ตัน รวมแล้ว 2 เดือน มีการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งสิ้นกว่า 330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท โดยยืนยันว่ากรมศุลกากรให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยตามใบอนุญาตของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการส่งออกดังกล่าวเป็นการดำเนินการของผู้ประกอบการไม่กี่ราย ไปในหลายประเทศทั้ง จีน ฮ่องกง อเมริกา

ขณะที่การนำเข้าหน้ากากอนามัยในเดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 145 ตัน มูลค่า 55 ล้านบาท และเดือน ก.พ. 2563 อยู่ที่ 71 ตัน มูลค่า 45 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าประเทศจากจีน ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% ของมูลค่าที่สำแดง โดยการนำเข้ามาเพื่อใช้ในประเทศ หรือเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งออกต่อนั้น กรมศุลกากรไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ และประเมินได้ยากว่าจำนวนหน้ากากอนามัยที่นำเข้ามาคิดเป็นจำนวนกี่ชิ้น เพราะการสำแดงสินค้าให้ทำตามน้ำหนัก

"การส่งออกเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ที่บอกว่าห้ามส่งออก เว้นแต่ได้รับการอนุญาต ถ้าผู้ประกอบการมีใบอนุญาต กรมศุลกากรก็คงไปห้ามไม่ให้ส่งออกไม่ได้ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์เข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น ยอดการส่งออกหน้ากากอนามัยจะชะลอตัวลง" นายชัยยุทธ กล่าว

นายชัยยุทธ กล่าว เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวในเพจของโซเชียลมีเดีย เรื่อง หน้ากากอนามัย จำนวน 5 ล้านชิ้นถูกกักโดยกรมศุลกากรขอแบ่งจำนวน 2 ล้านชิ้น ว่า ทางผู้บริหารของกรมฯ ได้มีข้อสังการให้ตรวจสอบไปยังพื้นที่ที่อาจมีการนำเข้าหน้ากากดังกล่าว ซึ่งพบว่า ไม่พบกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจังไม่เป็นความจริง

"กรมศุลกากร ได้ทำการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า ภาพที่ทางเพจของโซเชียลมีเดียได้นำมาลงนั้น เป็นภาพที่เหมือนกับการลงขายหน้ากากอนามัยในต่างประเทศ โดยกรมฯ ให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการทำงานของกรมศุลกากรเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม" นายชัยยุทธ กล่าว

นายชัยยุทธ กล่าวถึงกรณีที่มีเพจลงว่ามีคนให้ข้อมูลว่า ตู้สินค้าที่นำหน้ากากอนามัยเข้ามาทุกตู้ โดนกัก จำนวน 5 ล้านชิ้น และศุลกากรขอแบ่ง 2 ล้านชิ้น และมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจร้านขายยาว่ามีการขายเกินราคาหรือไม่ นั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นเรื่องจริง โดยกรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดแล้ว ผ่านด่านศุลกากรท่าเรือ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าแหลมฉบัง และด่านศุลกากรสุวรรณภูมิ พบว่า ไม่มีกรณีการกักหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้าเลย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า การนำเข้าหน้ากากอนามัยล็อตใหญ่ที่สุด ในเดือน ก.พ. 2563 จำนวน 2 ล้านชิ้น และในเดือน มี.ค. อีก 1 ล้านชิ้น ซึ่งทุกเคสได้มีการตรวจและปล่อยสินค้าออกไปหมดแล้ว

"ยืนยันว่าข้อมูลที่แชร์ผ่านเพจโซเชียลมีเดียว่ามีการนำเข้าหน้ากากอนามัย จำนวน 5 ล้านชิ้น และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรขอแบ่ง 2 ล้านชิ้น ไม่มีและไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

โดยกรมศุลกากร ได้มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากรูปที่เพจได้มีการเผยแพร่ ไม่ใช่รูปของที่ถูกกัก แต่เป็นรูปเดียวกับที่มีลงในเพจซื้อขายออนไลน์ ดังนั้นรูปที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจโซเชียลมีเดียไม่ใช่รูปสินค้าที่ถูกกัก ไม่มีข้อมูลใดที่สนับสนุนว่ารูปที่ลงในเพจเป็นความจริง" นายชัยยุทธ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการแชร์ว่ากรมศุลกากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจราคาหน้ากากอนามัยที่ขายตามร้านขายยาว่ามีการขายเกินราคาหรือไม่นั้น ยืนยันว่า กรมฯ ไม่มีนโยบายและไม่มีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจจับว่ามีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคา เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เลย

กรมศุลฯ แจง 330 ตัน รวมสินค้าอื่นด้วย

ในช่วงเย็นวันเฟซบุ๊กเพจ "กรมศุลกากร" ได้โพสต์ข้อความ ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัย ช่วงเดือนม.ค. -ก.พ. จำนวน 330 ตัน เป็นตัวเลขจากพิกัดศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าชนิดอื่นนอกจากหน้ากากอนามัยอีกหลายชนิด เช่น ชุดผ้าหุ้มเบาะ เชือกผูกรองเท้า ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุม สายคล้องคอทำด้วยผ้าทอ เป็นต้น

โดยที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขในช่วงเดือนมกราคม ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย เพื่อลดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศ

โดยนับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกน้อยมาก.

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรไม่ปิดกั้น หากเจ้าของข้อมูลที่มีการแชร์จะเข้ามาชี้แจงเพื่อยืนยันข้อมูลกับกรมศุลกากร แต่หากข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง ก็อยากให้เจ้าของข้อมูลรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้มีการเผยแพร่ด้วย เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่จะเกิดขึ้นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการออกอากาศแล้วแถลงข่าวของกรมศุลกากรโดยเอกสารนี้ในสังคมโซเชียลมีเดียและวงการสื่อมวลชนสร้างความปั่นป่วนให้กับกระทรวงพาณิชย์เป็นอย่างยิ่ง จากข้อมูลความผิดพลาดของโฆษกกรมศุลกากรและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ทำให้วันนี้ (12) อธิบดีกรมการค้าภายในจะต้องดำเนินการแจ้งความจับกุม ผู้ที่ให้ข้อมูลและสื่อสารผิดพลาด

ฟัน'ลาซาด้า' 3 คดีขายแมสก์เกินราคา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจับกุมผู้กักตุนและขายหน้ากากอนามัยเกินราคา ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และทีมงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินคดีกับลาซาด้า ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าออนไลน์ จำนวน 3 คดี เพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เคยเชิญมาหารือและขอความร่วมมือให้ช่วยสอดส่องดูแลผู้ค้าหน้ากากอนามัยไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าเกินราคา และได้แจ้งให้ทราบถึงข้อกฎหมายและโทษที่จะได้รับ หากปล่อยให้มีการกระทำผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์ม

สำหรับ 3 คดี ได้แก่ 1.ร้านขายยาชื่อดีดี ฟาร์มา ที่ขายหน้ากากอนามัยในลาซาด้า มีของกลาง 28 กล่อง โดยขายกล่องละ 1,100 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 22 บาท และพบมีโค้ดลาซาด้าอยู่บนกล่องที่เตรียมส่งมอบ ซึ่งได้แจ้งความดำเนินคดีทั้งร้านขายยา และกรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของลาซาด้า ในฐานะตัวการร่วมแล้ว โดยโทษขายเกินราคาควบคุม จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษค้ากำไรเกินควร จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ร้าน 928 Shop จำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคา 1,099 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 22 บาท มีหลักฐานเอกสารของลาซาด้าในการรับคำสั่งซื้อและส่งสินค้า โดยผู้ซื้อได้มีการรับสินค้าเรียบร้อยแล้วในวันที่ 10 มี.ค.2563 ซึ่งเท่าที่ติดตามพบว่าปิดร้านไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ทั้งขายเกินราคาและค้ากำไรเกินควรกับร้าน 928 Shop และลาซาด้า

3.ร้าน Appliance Safety (NK) ขายในราคากล่องละ 1,299 บาท หรือเฉลี่ยชิ้นละ 26 บาท ได้แจ้งข้อหาขายเกินราคาควบคุมและค้ากำไรเกินควรเช่นเดียวกัน

นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ ได้ตรวจสอบพบว่ามีความพยายามที่จะหาลู่ทางในการค้ากำไรเกินควร โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบไปขายตามราคาควบคุม แต่คิดค่าขนส่งแพงมาก ขอเตือนว่าผิดกฎหมาย เข้าข่ายขายเกินราคาและขายในราคาสูงเกินสมควร โดน 2 ข้อหาเช่นเดียวกัน เพราะคำว่าราคาควบคุมนั้น รวมทั้งตัวสินค้าและค่าบริการด้วย ดังนั้น ค่าขนส่งถือเป็นค่าบริการ จึงอยู่ในกฎหมายเช่นเดียวกัน ใครที่กำลังทำอยู่ ก็มีความผิดตามกฎหมาย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการจับกุมดำเนินคดีผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 สิ้นสุดวันที่ 10 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา ว่า มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 115 ราย แบ่งเป็นการจับกุมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 80 ราย และในต่างจังหวัด 35 ราย แยกเป็นความผิดขายเกินราคาควบคุม 10 ราย ไม่ปิดป้ายแสดงราคา 29 ราย และขายแพงเกินสมควร 76 ราย ในจำนวนนี้เป็นการกระทำความผิดจากการขายผ่านออนไลน์จำนวน 16 ราย ซึ่งผู้ถูกจับกุมมีทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ส่วนการตรวจสอบบุคคลที่อยู่ในพรรคการเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมาย หากพบการกระทำผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที รวมถึงกรณีนายบอย ขณะนี้พนักงานสอบสวนกำลังขยายผลอยู่

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ผ่านมา หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ไม่มีการอนุญาตให้ส่งออก ยกเว้นประเภทที่ไทยไม่ใช้ หรือมีเครื่องหมายการค้า ที่ไม่สามารถนำมาใช้ในบ้านเราได้

อย.เปิดทางด่วนนำเข้า “หน้ากากอนามัย”

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ประกอบการหลายรายสนใจที่จะนำเข้าหน้ากากอนามัย อย.ขอชี้แจงว่า ผู้ประกอบการรายใดที่มีความประสงค์จะนำเข้าหรือผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันเชื้อโรคเท่านั้น จำเป็นจะต้องมาติดต่อขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าจาก อย.ก่อน โดย อย.ได้มีมาตรการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตหรือนำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นลำดับแรก (First priority) เพื่อบรรเทาและตอบสนองความต้องการหน้ากากอนามัยภายในประเทศไทย โดยได้จัดให้มีระบบ Fast Track ในการจดทะเบียนสถานประกอบการผลิต หรือนำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์

ทั้งนี้ กรณีนำเข้าผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน หากยื่นเอกสารที่แสดงว่ามีการขายหน้ากากอนามัยนั้นในประเทศผู้ผลิตหรือประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ และเอกสารแสดงรายละเอียดของหน้ากากอนามัยนั้น เช่น ฉลากสินค้า ลักษณะของหน้ากากอนามัย วัตถุประสงค์การใช้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ อย.ได้จัดให้มีระบบ fast track ทั้งการตรวจเอกสารรวมไปถึงการตรวจสถานที่ผลิตอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น