xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”เผยแคนาดาประกาศแก้ไขการใช้ส่วนผสมของสารเคมีในเครื่องสำอาง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศเผยกระทรวงสาธารณสุขแคนาดาประกาศแก้ไขข้อกำหนดการใช้สารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ย้ำผู้ผลิตและประกอบการไทยศึกษาข้อกำหนดต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา ประกาศห้ามและแก้ไขการจำกัดปริมาณการใช้สารเคมีที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ได้แก่ Sodium Bromate/Dihydrocoumarin/ Disulfiram, Thiuram, Thiuram disulfides, Thiuram monosulfides/Thioglycolic acid และเกลือของสารนี้ ทั้งนี้ ระเบียบฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนธ.ค.2562 ที่ผ่านมา

โดยรายละเอียดการห้ามใช้สารเคมี สรุปได้ ดังนี้ ห้ามใช้ Sodium Bromate เนื่องจากมีความเป็นพิษเทียบเท่ากับ โพแทสเซียมโบรเมต (Potassium bromate) ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่มีนาคม ปี 2554 เนื่องจากก่อให้เกิดมะเร็ง , แก้ไขจากห้ามใช้เป็นจำกัดปริมาณการใช้สาร Dihydrocounmarin ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วไม่ต้องล้างออกไม่เกิน 0.035% และใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ล้างออกได้ไม่เกิน 3.5% , แก้ไขจากห้ามใช้เป็นจำกัดปริมาณการใช้สาร Disulfiram, Thiuram, Thiuram disulfides และ Thiuram monosulfides ในผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติสูงสุดไม่เกิน 14% และเพิ่มปริมาณที่อนุญาตให้ใช้สาร Thioglycolic acid และเกลือของสารนี้ ในผลิตภัณฑ์ยาย้อมผมและบริเวณรอบดวงตา โดยใช้ในผลิตภัณฑ์ดัดขนตาไม่เกิน 11% และค่า ph ≤ 9.5 ใช้ในผลิตภัณฑ์ยาย้อมผม ดัดผม หรือยืดผมไม่เกิน 8% และค่า ph ≤ 9.5 ใช้ในผลิตภัณฑ์ยาย้อมผม ดัดผม หรือยืดผมสำหรับมืออาชีพไม่เกิน 11% และค่า ph ≤ 9.5 และใช้ในผลิตภัณฑ์ครีมกำจัดขนไม่เกิน 5% และค่า ph ≤ 12.7

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติการส่งออก ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไปแคนาดา (พิกัด 3304) ในปี 2559–2561 มูลค่า 13.1 15.5 และ 39.1 ล้านบาทตามลำดับ และในปี 2562 มีมูลค่าการส่งออกไปแคนาดา 49.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.85 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สำหรับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.sgs.com/en/news/2020/01/safeguards-00820-health-canada-updates-cosmetic-ingredient-hotlist โดยต้องศึกษากฎระเบียบให้ดี เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าของไทย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการค้า โทร. 02-547-5095 หรือสายด่วน 1385


กำลังโหลดความคิดเห็น