xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ดันรถไฟฟ้าเชียงใหม่-ดึงเอกชนร่วมทุน 20% เพิ่มแรงจูงใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม. ลุยรถไฟฟ้าเชียงใหม่มูลค่ากว่า 2.7 หมื่น ล.คาดสรุปผลศึกษา PPP เสนอ ครม.ปลายปี 63 เปิดประมูลร่วมทุน PPP ปี 64 ปรับการศึกษาเอกชนลงทุนเฉพาะระบบ 5 พัน ล. หวังเพิ่มผลตอบแทนการเงิน จูงใจร่วมทุน

วันนี้ (13 มี.ค.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดสัมมนาสื่อมวลชน (Press Seminar) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ และสร้างการรับรู้บทบาทของ รฟม. ในการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าเมืองภูมิภาค โดยมี นายถนอม รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. นายกันต์ณธีร์ เนติโรจนชัยชาญ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการ นายเฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และ นายสมชาย เอื้อวงษ์ชัย กรรมการเลขาธิการหอการค้าเชียงใหม่ เข้าร่วมเสวนา

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า การศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี รูปแบบเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) ทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดิน มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือใต้ ระยะทางรวมประมาณ 16 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ตามแผนงานเมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2563 จากนั้นจะนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณใน ธ.ค. 2563 ทำการสำรวจและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต.ค. 2564-พ.ย. 2577 ดำเนินการคัดเลือกเอกชน ก.พ. 2564-ก.พ. 2565 และเริ่มก่อสร้างงานโยธา ระบบรถ มี.ค. 2565 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570

โดยคาดว่า ในปีแรกที่เปิดให้บริการ (ปลายปี 2570 ) จะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 16,000 คน /วัน และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ40,000 คน/วัน ภายใน 30 ปี ขณะที่ในชั่วโมงเร่งด่วน จะมีผู้โดยสารหนาแน่นที่ประมาณ 1,200 คน


ทั้งนี้ การศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ PPP-Net Cost โดยโครงการมีมูลค่ารวม 27,200 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะลงทุนค่าเวนคืน ประมาณ 4,400 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา (Civil Work) ประมาณ 15,000 ล้านบาท จัดหาขบวนรถไฟฟ้า (Rolling Stock) ประมาณ 5,000 ล้านบาท และบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดอายุ สัมปทาน 30 ปี โดยตามหลักรัฐจะอุดหนุนการลงทุนเอกชนไม่เกินมูลค่างานโยธา

ซึ่งจากการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) อยู่ที่ 13% ถือว่ามีความคุ้มค่า ส่วนผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจากการศึกษา จะประเมินการลงทุนของเอกชนเฉพาะ (Rolling Stock) ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อปรับFIRR ให้คุ้มค่ามากขึ้น

“รถไฟฟ้าใช้เงินลงทุนสูงขณะที่รัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องทยอยลงทุนทีละเส้นทาง โดยจัดลำดับเส้นทาง โดย รฟม.พร้อมร่วมมือกับท้องถิ่นในการลงทุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของโครงการและเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยรัฐจะร่วมลงทุนในระดับหนึ่ง” ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าว

ด้าน นายสมชาย เอื้อวงษ์ชัย กรรมการเลขาธิการหอการค้าเชียงใหม่ กล่าวว่า หอการค้าฯได้เสนอความเห็นต่อรฟม.ไปแล้วว่า ควรดำเนินการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ทั้ง 3 สายตามที่มีการศึกษาไว้ในแผนแม่บท ซึ่งนอกจากสายสีแดง ที่นะเริ่มดำเนินการได้ก่อน ควรผลักดันให้มีการออกแบบสายสีเขียวและสีน้ำเงิน ในปี 2564 เพราะทั้ง 3 สายเป็นโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันและจะทำให้การเดินทางด้วยระบบรางมีความสมบูรณ์ หากทำสายสีแดงอย่างเดียว จะไม่เกิดประโยชน์ตามแผน ขณะที่รถไฟฟ้าเป็นโครงการที่มีส่วนกระตุ้นภาคลงทุนอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์


โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี มีรูปแบบเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) ทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดิน มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือใต้ ระยะทางรวมประมาณ 16 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี

มีอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณจุดเริ่มต้นโรงพยาบาลนครพิงค์ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,600 คัน และรถจักรยานยนต์ 800 คัน และบริเวณที่ว่างข้างสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,200 คัน และรถจักรยานยนต์ 2,800 คัน มีศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการตั้งอยู่บริเวณแยกหนองฮ่อ ขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ไร่

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเป็นการเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน มีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)






กำลังโหลดความคิดเห็น