xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าไม่มาซะที 6 หัวเมืองจราจรหนึบ-PM 2.5 หนัก เอกชนยังเมิน ผลตอบแทนต่ำ-รฟม.จ่อปรับเงื่อนไข

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รถไฟฟ้า...เป็นระบบขนส่งมวลชน สำหรับเมืองที่มีปัญหารถติด ซึ่งนอกจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) แล้ว หลายเมืองใหญ่ในภูมิภาคของไทย กำลังประสบปัญหาการจราจรอย่างหนัก รวมไปถึง มลพิษทางอากาศ จากไอเสียรถยนต์ ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

ซึ่งจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่11 ก.ย. 2561 ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ พังงา และภูเก็ตได้ และ มติครม. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ให้ รฟม. อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ให้รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.นครราชสีมา …ล่าสุด มติครม.เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 อนุมัติหลักการร่างพ.ร.ฎ.ให้รฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก

ทำให้รฟม.มีอำนาจในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นไว้ รวม 4 จังหวัด คือ “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก”

@รถไฟฟ้าภูเก็ตประเดิมเอกชนลงทุน 3.5 หมื่นล.

โดยปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา รถไฟฟ้าในภูมิภาค จำนวน 3 โครงการ โดยโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) ได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562แล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติ จาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.

”แทรมป์ภูเก็ต”เสียเวลาเรื่องการออกแบบอยู่นาน เพราะต้องมีการปรับแบบหลายรอบ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง และความปลอดภัย เนื่องจากมีข้อกังวลปัญหาจราจรและเรื่องอุบัติเหตุ เรื่องการแชร์เลนถนนระหว่างแทรมป์กับรถยนต์ ดังนั้น ในบางช่วงจึงต้องยกระดับเพื่อแก้ปัญหา จึงส่งผลให้ค่าก่อสร้างสูงเพิ่มขึ้น”

โดยตามผลการศึกษา ในการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. มี 21 สถานี มูลค่า 35,100 ล้านบาท จะลงทุนโดยใช้รูปแบบ PPP Net Cost ประเมินค่างานโยธาอยู่ที่กว่า 27,000 ล้านบาท งานระบบอยู่ที่ประมาณ 6,600 ล้านบาท ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ที่ประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุน (EIRR) ประมาณ 12.9 % ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง

ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเสนอบอร์ด รฟม. เพื่อขอความเห็นชอบ รายงาน PPP จากนั้นจะเสนอครม.อนุมัติ โดยวางไทม์ไลน์ การประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนช่วงกลางปี 2563 เปิดให้บริการเดือน มี.ค. 2568

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่บอร์ด รฟม.ยังติดใจ คือ เรื่องประมาณการณ์ผู้โดยสาร ที่คาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน นั้น อาจจะสูงเกินไปหรือไม่ ... ให้ประเมินพฤติกรรมการเดินทางอย่างรอบด้าน และเปรียบเทียบการเดินทางด้วยขนส่งอื่นๆ เช่น Airport Bus ผู้ใช้ที่เป็นนักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่

สำหรับ รถแทรมป์ภูเก็ตนั้น มีบริการ 2 ฟังก์ชั่น คือ ช่วงนอกเมือง กำหนดความเร็วสูงสุดที่ให้บริการ 80 กม./ชม. พื้นที่เมืองชั้นใน จะวิ่งด้วยความเร็ว 20-40 กม./ชม. โดยกำหนดอัตราค่าโดยสาร ณ ปีที่เปิดให้บริการ เริ่มต้น 22.50 บาท + ค่าโดยสารตามระยะทาง 3.12 บาท/กม.

@เอกชนเมินลงทุนแทรมป์“เชียงใหม่”– ติงค่าโดยสารต่ำ รีเทิร์นไม่คุ้ม

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกเเม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นโครงการที่ 2 ของรฟม. ที่ใกล้จะสรุปผลการศึกษาการร่วมลงทุน PPP แล้ว โครงการมีมูลค่ารวม 27,200 ล้านบาท โดยรัฐจะลงทุนค่าเวนคืน ประมาณ 4,400 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา (Civil Work) ประมาณ 15,000 ล้านบาท จัดหาขบวนรถไฟฟ้า (Rolling Stock) ประมาณ 5,000 ล้านบาท และบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดอายุ สัมปทาน 30 ปี โดยตามหลักรัฐจะอุดหนุนการลงทุนเอกชนไม่เกินมูลค่างานโยธา

รถไฟฟ้าเชียงใหม่ หรือแทรมป์สายสีแดง มีระยะทาง 16 กม. จำนวน 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี เป็นทางระดับดิน 6.5 กม. ใต้ดิน 9.5 กม. โดยทางระดับดิน จะใช้พื้นที่เกาะกลางถนน เป็นหลัก

เบื้องต้น กำหนดอัตราค่าโดยสาร ตามระยะทาง เริ่มต้น 15 -30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์ โครงการฯ มีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 13% ประมาณการณ์ผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการ ที่ 16,000 คน/ต่อวัน

โดยจะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 2562 คาดว่าจะได้ตัวผู้รับสัมปทานและเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี เปิดให้บริการ ในปี 2570

ล่าสุด รฟม.ได้มีการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(Market Sounding) ซึ่งภาคเอกชน มีความเห็นว่า โครงการมีผลตอบแทนการลงทุน (FIRR) ติดลบ จึงไม่จูงใจในการลงทุน และเอกชนได้เสนอความเห็น ว่า โครงการนี้ ควรใช้รูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐลงทุนและจ้างเอกชนเดินรถ หรือเปิดประมูลโดยให้คัดเลือกเอกชนรายที่ขอรัฐอุดหนุนน้อยที่สุด จึงจะมีความเป็นไปได้

ทั้งนี้เนื่องจาก โครงการออกแบบการก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินบางส่วน เพื่อลดผลกระทบ ทำให้วงเงินลงทุนโครงการสูง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า กรณีที่เอกชนมีความเห็นว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ ผลตอบแทนไม่คุ้มค่านั้น แม้จะเป็นความเห็นของเอกชนกลุ่มเดียว แต่ รฟม.ต้องนำมาพิจารณาประกอบผลการศึกษา โดยยังยืนยันว่า รูปแบบ PPP Gross Cost มีความเหมาะสม แล้ว

ดังนั้น กรณี FIRR ต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดค่าโดยสารที่อาจจะค่อนข้างต่ำ ซึ่ง อัตราค่าโดยสาร ตามระยะทาง มีค่าแรกเข้า 14 บาท บวกสถานีละ 1 บาท สูงสุด 30 บาทต่อเที่ยว ขณะที่ค่าเฉลี่ยปกติค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะบวกสถานีละ 2 บาท จึงเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับตัวเลขค่าโดยสารใหม่

@ รถไฟฟ้า”โคราช”ศึกษา PPP ลงทุน นำร่องสายสีเขียว วงเงิน 8 พันล.

ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา รฟม.ได้จ้างที่ปรึกษา ศึกษารายละเอียดความเหมาะสมและออกแบบ สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.10 กม. โดยประเมินมูลค่าลงทุนเบื้องต้นไว้ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท

รถไฟฟ้าสายสีเขียว จ.นครราชสีมา มีแนวเส้นทางเริ่มจาก ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ซึ่งผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ตลาดเซฟวัน ตลาดมิตรภาพ สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา คลังพลาซ่าใหม่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานจังหวัดนครราชสีมา สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นต้น

เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) หรือ Tram รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวตะวันออก - ตะวันตก บนถนนมิตรภาพ ถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถนนราชดำเนิน ถนนชุมพล และถนนสุรนารายณ์ มีสถานีจำนวน 20 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณบ้านนารีสวัสดิ์ ซึ่ง อัตราค่าโดยสาร ตามระยะทาง เบื้องต้นมีค่าแรกเข้า 10 บาท บวกสถานีละ 1 บาท

คาดว่าจะ เปิดให้บริการต้นปี 2568 มีผู้โดยสารประมาณ 1 หมื่นคน/วัน เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักที่ผ่านสถานที่สำคัญและมีสถานีเชื่อมต่อกับสถานรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง

@ เตรียมจ้างศึกษา PPP ”แทรมป์ล้อยาง”พิษณุโลก”3.6พันล.

สำหรับ รถไฟฟ้าใน จ.พิษณุโลก ซึ่งครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.ให้รฟม.ดำเนินกิจการนั้น ตามผลการศึกษาสนข. ได้ว่าจ้าง ม.นเรศวร ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยสรุปผลศึกษาระยะที่ 1 เส้นทางสายสีแดง(ม.พิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก) เป็นเส้นทางที่ควรพัฒนาก่อน เป็นระบบขนส่งรูปแบบ “รถรางล้อยาง” หรือ Auto Tram ระยะทาง 12.6 กม.จำนวน 15 สถานี

โดยใช้การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP- Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืน ค่าก่อสร้างงานโยธา และระบบรถไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุนจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 3,440 ล้านบาท

ตามแผน ประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนได้ในเดือนก.ย. 2565 – ต.ค. 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 โดยคาดว่าปริมาณผู้โดยสารตามแผนระยะที่ 1 มีผู้โดยสารประมาณ 5,700 คน-เที่ยววัน ในปีที่เปิดให้บริการและเพิ่มเป็น 13,700 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2574

@รถไฟฟ้ารางเบา”ขอนแก่น-หาดใหญ่”นิ่งสนิท

นโยบายการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาคและแก้ไขปัญหาจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาค ยังมี ที่ ขอนแก่น และ สงขลา ซึ่ง ท้องถิ่น รับดำเนินการเอง

โดยจังหวัด ขอนแก่น มีการศึกษารถไฟฟ้ารางเบา (สำราญ-ท่าพระ) มีระยะทาง 26 กม. จำนวน 20 สถานี ซึ่งประมาณการณ์ค่าก่อสร้างไว้กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการดำเนินการโดย บริษัทขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด(KKTS) ภายใต้ความร่วมมือกับเทศบาล

ขณะที่อัตราค่าโดยสาร กำหนดเริ่มต้นสถานีแรกที่ 15 บาท และคาดการณ์ปริมาณผู้ใช้บริการต่อวันอยู่ที่ 60,000 เที่ยว/วัน

สำหรับรถไฟฟ้ารางเดี่ยว “หาดใหญ่”นั้น ดำเนินการโดยองค์กรท้องถิ่นเช่นกัน คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เป็นระบบโมโนเรลหาดใหญ่ เส้นทางคลองหวะ-สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. 12 สถานี วงเงินลงทุน 16,186 ล้านบาท

ค่าโดยสารเบื้องต้น ที่ 20 บาท ประมาณการณ์ว่าจะมี ผู้ใช้บริการ 55,902 คน/วัน ในปีแรกที่เปิดและเพิ่มเป็น 75,165 คนในอีก 10 ปีต่อไป ซึ่งปัจจุบันโครงการออกแบบเสร็จแล้ว คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP และครม.อนุมัติ ได้ในปีนี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 2ปีครึ่ง กำหนดเปิดให้บริการเร็วสุดในปี 2565

สำหรับ รฟม.นั้น วางโมเดลการลงทุนรถไฟฟ้าในภูมิภาค ที่อยู่ในความรับผิดชอบ 4 จังหวัด “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก” ภายใต้ รูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน PPP- Net Cost แต่จากที่มีการเปิดเวที รับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) นักลงทุนไม่ค่อยตอบรับโมเดล PPP- Net Cost มากนัก เพราะขึ้นชื่อว่า รถไฟฟ้า ค่าลงทุนสูงมาก ไม่ว่าจะอยู่ในกทม.หรือต่างจังหวัด

รถแทรมป์... จะเน้นก่อสร้าง บนเกาะกลางถนน แต่ด้วยกายภาพ ก็ไม่สามารถที่จะสร้างไปบนเกาะกลางได้ตลอดเส้นทาง ต้องมีทั้งเวนคืนเพิ่ม มีทั้งปรับแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ เป็นใต้ดิน ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงทั้งสิ้น ขณะที่ค่าโดยสารจะกำหนดให้สอดคล้องกันต้นทุนไม่ได้ เพราะต้องนำตัวเลขทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ

โดยเฉพาะรายได้ของประชากร ว่าจะจ่ายไหว/ไม่ไหว...อีกด้วย

อีกประเด็นสำคัญคือ...ระบบเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) หากไม่มีป้อนจาก บ้าน ชุมชน หรือสถานที่สำคัญ เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า... ยังไงก็ เจ๊ง!

อย่างไรก็ตาม รฟม.ยังคงยืนยัน ในรูปแบบการลงทุน PPP- Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืน ส่วนเอกชน ลงทุนในส่วนของงานโยธาและระบบ และรับบริหารการเดินรถตลอดอายุสัมปทาน โดยรัฐจะอุดหนุนเอกชน ไม่เกินค่างานโยธา

แต่!หาก ข้อเสนอของรัฐไม่ตอบโจทย์ทางการเงิน ผลตอบแทนต่ำ...นักลงทุนไม่ร่วมประมูล...โครงการก็...ไม่เกิด รัฐต้องถอยกลับมาปรับเงื่อนไขใหม่ ซึ่งยังมีโมเดล สายสีส้ม ที่ใช้การร่วมลงทุน PPP- Net Cost ภาครัฐลงทุนค่าเวนคืน ส่วนเอกชนลงทุนค่างานโยธาและระบบ... โดยรัฐจะทยอยจ่ายคืนภายหลัง ซึ่งน่าจะจูงใจเอกชนได้มากขึ้น

ส่วนPPP- Gross Cost รัฐลงทุนทั้งหมดและจ้างเอกชนเดินรถ แบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะเป็นทางเลือกสุดท้าย!





นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)








กำลังโหลดความคิดเห็น