น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ก.พ. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก
ทั้งนี้ ตามนโยบายการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาคและแก้ไขปัญหาจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาคสู่ปริมณฑล และกรุงเทพฯ ด้วยระบบขนส่งมวลชน ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน 6 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้าง ม.นเรศวรศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยสรุปผลศึกษาระยะที่ 1 เส้นทางสายสีแดง (ม.พิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก) เป็นเส้นทางที่ควรพัฒนาก่อน เป็นระบบขนส่งรูปแบบ “รถรางล้อยาง” หรือ Auto Tram ระยะทาง 12.6 กม.จำนวน 15 สถานี
โดยใช้การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP-Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืน ค่าก่อสร้างงานโยธา และระบบรถไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุนจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 3,440 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนได้ในเดือน ก.ย. 2565-ต.ค. 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 โดยคาดว่าปริมาณผู้โดยสารตามแผนระยะที่ 1 มีผู้โดยสารประมาณ 5,700 คน-เที่ยววัน ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 13,700 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2574
จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ พบว่ากรณีมีรถไฟความเร็วสูง มูลค่าปัจจุบัน (NPV) เท่ากับ 399.55 ล้านบาท และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ 13.01%
ส่วนกรณีไม่มีรถไฟความเร็วสูง มูลค่าปัจจุบัน (NPV) เท่ากับ -968.67 ล้านบาท และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ 8.56%